นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดิอนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ​Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

60 กิจกรรมพัฒนา EF ทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน

Enfa สรุปให้

  • กิจกรรม EF เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คุณพ่อคุณแม่สามารถร่วมทำกิจกรรมกับลูกรักได้ทุกวัน
  • กิจกรรม EF ที่เหมาะสมควรช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา
  • บทความนี้แนะนำ 60 กิจกรรมพัฒนา EF สำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยแบ่งตามช่วงวัย เพื่อให้เลือกนำไปใช้และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับอายุ ความสนใจ และความสามารถของเด็กได้อย่างเหมาะสม

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • กิจกรรม EF คืออะไร
     • กิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
     • กิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย
     • 60 กิจกรรมพัฒนา EF
     • MFGM สารอาหารในนมแม่เพื่อ IQ และทักษะจัดการสมอง EF ที่เหนือกว่า

ปัจจุบันทักษะการคิดและการจัดการชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมั่นคง หนึ่งในทักษะจำเป็นดังกล่าวคือ ทักษะ EF หรือ ทักษะสมองส่วนหน้า ที่ใช้ในการคิด วางแผน และตัดสินใจ ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาทักษะนี้ตั้งแต่ปฐมวัย

บทความนี้ Enfa จะพาคุณพ่อแม่คุณแม่มารู้จักกับ 60 กิจกรรมพัฒนา EF หรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถนำกิจกรรม EF เหล่านี้ไปปรับใช้กับลูกน้อยได้ทันที

กิจกรรม EF คืออะไร

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่ากิจกรรม EF คืออะไร แล้วใครมีหน้าที่ช่วยเสริมกิจกรรม EF คำตอบนั้นง่ายมาก นั่นคือ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองและคนในครอบครัว ตลอดจนคุณครูที่โรงเรียน เพราะกิจกรรม EF สามารถทำได้ทั้งในและนอกโรงเรียน และทำได้ตลอดเวลา

กิจกรรม EF คือ กิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF ผ่านการเรียนรู้ การเล่น และการปฏิบัติจริง กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการควบคุมตนเอง วางแผน แก้ปัญหา และตัดสินใจอย่างเหมาะสม เป็นได้ทั้งการเล่นเกม วางแผน กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือกิจกรรมที่ใช้การตัดสินใจ เช่น การเล่นจิ๊กซอว์ การเล่าเรื่องจากภาพ การเล่นกีฬาแบบทีม เป็นต้น

โดยประโยชน์ของกิจกรรม EF ไม่เพียงช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ เสริมสร้างสมาธิและความสามารถในการจดจ่อ พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา และสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้และการทำงานในอนาคตสำหรับลูกรักเท่านั้น แต่ยังมีความสนุกสนาน และส่งเสริมให้เกิดช่วงเวลาคุณภาพในครอบครัวอีกด้วย

กิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน

กิจกรรม EF ปฐมวัย ควรเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ซึ่งเป็นกรอบสำคัญในการพัฒนาเด็กอย่างสมดุล คือ พัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ พัฒนาการด้านสังคม และพัฒนาการด้านสติปัญญา เพื่อให้สามารถกระตุ้นสมองและพัฒนาทัก EF ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรม EF ปฐมวัยควรเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

1. พัฒนาการด้านร่างกาย (Physical Development)

ควรใช้กิจกรรม EF ที่ส่งเสริมการควบคุมตัวเอง และการยืดหยุ่นทางความคิด เพื่อฝึกการควบคุมการเคลื่อนไหวและการทำตามคำสั่ง การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจ และเสริมสมาธิ เช่น การเล่นกีฬาแบบทีม

2. พัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ (Emotional Development)

ควรใช้กิจกรรม EF ที่ส่งเสริมการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ฝึกการยั้งคิด เสริมการแสดงออกทางอารมณ์ทั้งการระบายความรู้สึกและการจัดการความเครียด เช่น เกมหยุด-เดิน การวาดภาพแสดงอารมณ์ การฟังหรือเล่านิทานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางอารมณ์

3. พัฒนาการด้านสังคม (Social Development)

ควรใช้กิจกรรม EF ที่ส่งเสริมความยืดหยุ่นทางความคิดและการควบคุมพฤติกรรม ฝึกการสื่อสารและการเข้าใจผู้อื่น ฝึกการฟัง การอดทนรอ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การผลัดกันเล่าเรื่อง การทำงานกลุ่ม

4. พัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive Development)

ควรใช้กิจกรรม EF ที่ส่งเสริมความจำเพื่อใช้งานและการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การวางแผนและการคิดล่วงหน้า และเสริมทักษะความอยากรู้อยากเห็น เช่น เกมจิ๊กซอว์ เกมกระดานหรือบอร์ดเกม การทดลองวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ

การพัฒนาทักษะสมอง EF บนฐานพัฒนาการทั้ง 4 ด้านนี้ จะช่วยให้เด็กพัฒนาทั้งร่างกาย สมอง อารมณ์ และการเข้าสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งนับว่าเป็นรากฐานสำคัญสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

กิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย

ทักษะสมอง EF เป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 - 5 ปีแรก หรือตั้งแต่ตอนเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรจะพาลูกทำกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานการพัฒนาของสมอง กระตุ้นการใช้ความจำ ฝึกการควบคุมตนเอง การวางแผน การแก้ไขปัญหา ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตามช่วงวัย ลองทำสื่อ EF ปฐมวัย หรือจะใช้เป็น นิทาน EF นิทานพัฒนาสมอง ก็ได้เช่นกัน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

กิจกรรมเสริมทักษะสมอง EF สำหรับเด็กอายุ 6 - 18 เดือน

กิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กในวัยนี้ สามารถทำได้ผ่านกิจกรรมง่าย ๆ ที่แทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มลูกนั่งตัก แล้วพากันร้องเพลง พากันพูดคุยเรื่องต่าง ๆ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นซ่อนแอบ การฝึกนับนิ้วด้วยกัน หรือการเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ เช่น ร้องไห้ หัวเราะ เสียใจ การเลียนแบบเสียงสัตว์ต่าง ๆ

กิจกรรมเหล่านี้จะเน้นช่วยกระตุ้นให้ทารกฝึกสมาธิ มีการจดจ่อ การใช้ความจำ และฝึกทักษะการควบคุมตนเองขั้นพื้นฐาน ทั้งยังช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์และความใกล้ชิดให้เพิ่มขึ้นด้วย

กิจกรรมเสริมทักษะสมอง EF สำหรับเด็กอายุ 18 - 36 เดือน

ในช่วงพัฒนาการเด็กวัย 18 - 36 เดือนนี้ ถือเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทักษะทางภาษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาษาและการสื่อสารนั้นจะช่วยให้เด็กเข้าใจภาษาและมีส่วนร่วมในบทสนทนาและการเล่าเรื่องได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมทักษะผ่านกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การวาดรูป การเขียน หรือการอ่านนิทาน EF / นิทานพัฒนาสมองร่วมกัน ก็สามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น จดจ่อมากขึ้น และเสริมทักษะความจำด้วย

มากไปกว่านั้น เด็กในช่วงวัยเตาะแตะนี้ ยังเหมาะสำหรับกิจกรรมจำพวกการใช้แรงกาย ที่แฝงความท้าทายเอาไว้ด้วย เช่น การขว้างปาและจับลูกบอล การเดินบนคานทรงตัว เกมเลียนแบบ เกมเพลง เกมเต้นแบบมีสัญญาณให้เริ่มและหยุด เกมเหล่านี้จะกระตุ้นความสนใจของเด็ก เสริมความจำ และการควบคุมการยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้เล่นนอกกติกา

กิจกรรมเสริมทักษะสมอง EF สำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี

เด็กเล็กในวัยนี้ เหมาะอย่างยิง่ที่จะเสริมทักษะด้านการควบคุมตนเอง เนื่องจากเด็กเริ่มโตขึ้น เริ่มมีสังคมเพื่อร่วมชั้นอนุบาล การฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ ๆ และเสริมสร้างจินตนาการตั้งแต่วัยเยาว์ จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เกมที่ต้องเล่นเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ กิจกรรมที่ต้องให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างเช่น การทำอุปกรณ์ประกอบฉาก การประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุง่าย ๆ เป็นต้น

กิจกรรมเสริมทักษะสมอง EF สำหรับเด็กอายุ 5 - 7 ปี

เด็กอายุ 5 ถึง 7 ปี เป็นช่วงวัยที่เหมาะสำหรับการส่งเสริมทักษะด้านความจำ ความยืดหยุ่นทางความคิด การปรับตัว การยับยั้งชั่งใจ และเสริมสมาธิ ผ่านเกมต่าง ๆ เช่น เกมไพ่ เกมกระดาน หรือกิจกรรมที่ต้องมีการวางแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย เกมไขปริศนาต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้แม้จะเข้าใจความซับซ้อนของเกมได้ แต่เกมนั้นก็ไม่ควรจะยากเกินไปจนทำให้เด็กเล่นเกมไม่สนุกเพราะไม่เข้าใจกติกาที่ยุ่งยากก

กิจกรรมเสริมทักษะสมอง EF สำหรับเด็กอายุ 7 - 12 ปี

เด็กวัย 7-12 ปี ถือว่าเป็นช่วงวัยที่สามารถเข้าใจความซับซ้อนต่าง ๆ ของกิจกรรมได้เป็นอย่างดี และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเสริมทักษะสมอง Executive Function เช่น เกมปริศนาอักษรไขว้ เกมซูโดกุ รูบิก เกมคอมพิวเตอร์

มากไปกว่านั้น เด็กในวัยนี้ยังเป็นวัยที่เริ่มมีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการและทักษะของตนเอง เช่น เด็กบางคนอยากเรียนว่ายน้ำ เด็กบางคนสนใจเรียนดนตรี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะมีส่วนช่วยเสริมทั้งทักษะความสามารถ และการใช้งานสมองได้เป็นอย่างดี

หรือถ้าหากเด็กยังไม่มีท่าทีว่าจะสนใจสิ่งใดเป็นพิเศษ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตและให้คำแนะนำ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ลูกได้แสดงความสามารถออกมาได้อย่างเหมาะสม

60 กิจกรรมพัฒนา EF

เพื่อให้ลูกรักมีพัฒนาการที่ดี คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองให้ลูกน้อยผ่านกิจกรรมส่งเสริมทักษะที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย โดยนอกจากการทำกิจกรรมพัฒนาทักษะ EF ร่วมกันในครอบครัวผ่านชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถใช้สื่อการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับพัฒนาทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อยโดยเฉพาะร่วมด้วย เช่น นิทาน EF เกมพัฒนา EF 

ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไรดี วันนี้ Enfa ขอแนะนำ 60 กิจกรรมพัฒนา EF ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

กิจกรรมพัฒนา EF สำหรับเด็กอายุ 6 - 18 เดือน วัยแรกเริ่มสำรวจโลก

1. จับคู่ของเล่นสีเดียวกัน โดยใช้ของเล่นสีต่าง ๆ วางรวมกัน แล้วช่วยเด็กจับคู่สีเดียวกัน เพื่อฝึกความจำใช้งานและการแยกแยะสี
2. เกมซ่อนของ (Peek-a-Boo) โดยซ่อนของเล่นใต้ผ้าหรือในกล่องและให้เด็กหา เพื่อพัฒนาความจำใช้งานและกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
3. ตีของเล่นที่มีเสียง โดยให้เด็กตีของเล่น เช่น กลอง หรือเครื่องเล่นที่มีเสียง เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเหตุและผล
4. ลูกบอลกลิ้งไปมา โดยใช้ลูกบอลกลิ้งไปมาและให้เด็กพยายามคว้าจับ เพื่อฝึกสมาธิและการเคลื่อนไหวประสานกัน
5. ทำท่าทางตามเพลง โดยเปิดเพลงและทำท่าทางง่าย ๆ ให้เด็กเลียนแบบ เพื่อเสริมสมาธิและฝึกการทำท่าเลียนแบบ
6. เล่นกับกระจก โดยให้เด็กมองกระจกและสำรวจหน้าตัวเอง เพื่อเสริมการรู้จักตนเองและการแยกแยะ
7. เขย่าขวดเสียงกรุ๊งกริ๊ง โดยใช้ของเล่นที่มีเสียง หรือขวดที่มีเมล็ดข้างใน เพื่อฝึกการฟังและเชื่อมโยงเหตุ-ผล
8. เก็บของใส่กล่อง โดยให้เด็กช่วยเก็บของเล่นใส่กล่องหลังเล่นเสร็จ เพื่อเสริมระเบียบวินัยและการจัดการ
9. คลานตามลูกบอล โดยกลิ้งลูกบอลแล้วให้เด็กคลานตาม เพื่อฝึกการประสานมือและสายตา
10. เปิดปิดกล่องเล็ก ๆ โดยให้เด็กเล่นเปิดปิดฝากล่องที่มีของเล่นซ่อนอยู่ เพื่อเสริมการแก้ปัญหาอย่างง่าย
11. เล่นน้ำในอ่างน้ำ โดยให้เด็กเล่นน้ำในอ่างและจับของลอยน้ำ เพื่อเสริมประสบการณ์สัมผัสและการเรียนรู้
12. ร้องเพลงกล่อมพร้อมตบมือ โดยร้องเพลงง่าย ๆ แล้วให้เด็กตบมือไปตามจังหวะ ช่วยพัฒนาการฟังและการเคลื่อนไหว

กิจกรรมพัฒนา EF สำหรับเด็กอายุ 18 - 36 เดือน ผ่านการเล่นและการทดลอง

13.  ต่อบล็อกไม้ โดยให้เด็กต่อบล็อกไม้ตามแบบหรือตามใจชอบ ฝึกการวางแผนและความคิดสร้างสรรค์
14.  เกมจัดหมวดหมู่ (Sorting Game) โดยใช้วัตถุหลากสีหรือขนาดให้เด็กจัดหมวดหมู่ ช่วยพัฒนาความจำและการจัดการข้อมูล
15.  เล่นทรายหรือดินน้ำมัน โดยให้เด็กปั้นทรายหรือดินน้ำมันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการควบคุมมือและจินตนาการ
16.  อ่านนิทานแล้วถามคำถาม อ่านนิทานกับลูก และตั้งคำถามให้เด็กตอบ ฝึกการจำเนื้อหาและการตอบสนอง
17.  จับคู่สัตว์ของเล่นกับภาพ โดยใช้ของเล่นรูปสัตว์และภาพสัตว์ให้เด็กจับคู่ ฝึกการเชื่อมโยงและความจำ
18.  นับลูกปัดหรือของเล่นเล็ก ๆ ฝึกให้เด็กช่วยนับจำนวนลูกปัด เพื่อพัฒนาทักษะความจำ
19.  เดินตามเส้นหรือทางเดินที่กำหนด โดยวาดเส้นบนพื้นหรือใช้เทปติดให้เป็นทางเดิน เสริมการควบคุมร่างกายและสมาธิ
20.  เกม “เอาอะไรออก” วางของเล่นหลายชิ้นให้เด็กจำ แล้วเอาออก 1 ชิ้น ให้เด็กทายว่าชิ้นไหนหายไปฝึกการสังเกตและความจำ
21.  ฝึกแปรงฟันหรือแต่งตัวเอง ให้เด็กฝึกแปรงฟันหรือใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเอง เพื่อเสริมความมั่นใจและการดูแลตัวเอง
22.  เล่านิทานผ่านรูปภาพ โดยใช้หนังสือภาพและเล่าเรื่องให้เด็กฟัง เพื่อฝึกสมาธิและการฟัง
23.  ระบายสีด้วยนิ้วมือ (Finger Painting) โดยให้เด็กใช้สีปลอดสารพิษระบายสีด้วยนิ้ว เพื่อเสริมการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์
24.  วาดภาพตามรอยเส้น โดยให้เด็กวาดตามเส้นประที่เตรียมไว้ เพื่อฝึกการควบคุมมือและการจดจ่อ

กิจกรรมพัฒนา EF สำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี ผ่านการเรียนรู้เชิงลึก

25.  เล่นบทบาทสมมติ (Role Play) โดยให้เด็กสวมบทบาท เช่น หมอ ครู หรือคนขายของ ฝึกการคิดสร้างสรรค์และความสัมพันธ์
26.  ต่อจิ๊กซอว์ ให้เด็กต่อจิ๊กซอว์ที่เหมาะสมกับวัย โดยเลือกภาพที่ลูกชอบหรือสนใจ เพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาและฝึกสมาธิ
27.  สร้างหอคอยจากบล็อก โดยให้เด็กสร้างหอคอยสูงจากบล็อกไม้ตามจินตนาการหรือตามแบบ เพื่อเสริมการวางแผนและการควบคุมมือ
28.  เกม “ฟังแล้วทำ ฝึกให้เด็กทำตามคำสั่ง เช่น “เดิน 2 ก้าว แล้วตบมือ” เพื่อพัฒนาสมาธิและการทำตามคำสั่ง
29.  วาดภาพระบายสีอิสระ โดยให้เด็กวาดภาพหรือระบายสีตามใจชอบ เพื่อเสริมความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออก
30.  เกมหาของตามคำบอก บอกคำสั่งแล้วให้ทำตาม เช่น “ไปหยิบสิ่งที่มีสีแดงมาให้แม่” เพื่อฝึกความจำใช้งานและการฟัง
31.  วาดภาพลำดับเหตุการณ์ ฝึกให้เด็กวาดภาพเรื่องราว เช่น การทำอาหารในลำดับขั้นตอน เพื่อเสริมการวางแผนและการเรียบเรียงความคิด
32.  เต้นตามจังหวะเพลง โดยเปิดเพลงที่สนุกสนานและให้เด็กเต้นตามจังหวะ ช่วยพัฒนาสมาธิและการเคลื่อนไหว
33.  เล่านิทานจบเรื่อง (Story Completion) เล่านิทานแล้วให้เด็กช่วยคิดตอนจบ เพื่อฝึกจินตนาการและการคิดเชิงสร้างสรรค์
34.  สร้างบ้านจากกล่องกระดาษ ฝึกให้เด็กใช้กล่องกระดาษและสีตกแต่งบ้านของตัวเอง ช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์และความอดทน
35.  ทำอาหารง่าย ๆ เช่น สลัดผลไม้ โดยให้เด็กช่วยเตรียมส่วนผสมและจัดจาน เพื่อฝึกการวางแผนและความรับผิดชอบ
36.  เกมความจำด้วยบัตรภาพ (Memory Matching) โดยใช้บัตรภาพที่เหมือนกัน 2 ใบ และให้เด็กจับคู่ เพื่อเสริมทักษะความจำใช้งาน

กิจกรรมพัฒนา EF สำหรับเด็กอายุ 5 - 7 ปี ผ่านการเรียนรู้เชิงซับซ้อน

37.  เล่นเกมกระดาน (Board Games) เช่น หมากฮอส เกมการ์ด เกมเศรษฐี ฝึกการวางแผนและการรอคอย
38.  ทำงานประดิษฐ์ (DIY Crafts) ฝึกให้เด็กสร้างของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา
39.  เกมตอบคำถาม “ทำไมถึงเป็นอย่างนี้?” ตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ทำไมน้ำแข็งละลาย? เพื่อเสริมการคิดวิเคราะห์ โดยควรให้คำตอบที่ถูกต้องด้วย
40.  เดินตามแผนที่ ให้เด็กเดินหาของตามแผนที่ที่วาดให้ เพื่อพัฒนาความจำใช้งานและการวางแผน
41.  ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ ให้เด็กช่วยปลูกและรดน้ำต้นไม้ เพื่อฝึกความรับผิดชอบและการดูแลสิ่งแวดล้อม
42.  เกม “แปลงร่าง” (Shape Shifter) โดยให้เด็กทำท่าทางตามที่บอก เช่น แปลงร่างเป็นเครื่องบิน ช่วยเสริมจินตนาการและการคิดยืดหยุ่น
43.  จดรายการของที่ต้องซื้อ ให้เด็กช่วยเขียนรายการของที่ต้องซื้อในบ้าน เพื่อฝึกการจัดระเบียบข้อมูลและการเขียน
44.  ฝึกการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ผ่านการตั้งคำถามให้เด็ก เช่น ถ้าปากกาหายจะทำยังไง? เพื่อฝึกการแก้ปัญหาและการคิดอย่างมีเหตุผล
45.  สร้างสิ่งของจากกล่องเหลือใช้ ให้เด็กช่วยสร้างสิ่งประดิษฐ์จากกล่องหรือขวดพลาสติก เช่น ทำกระถางต้นไม้ กล่องใส่ทิชชู เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน
46.  ออกแบบห้องนอนตัวเอง หรือห้องอื่น ๆ ในบ้าน โดยให้เด็กวาดภาพห้องในฝันและบอกเหตุผล เพื่อเสริมจินตนาการและการสื่อสาร
47.  เกมการจัดลำดับ (Sequencing) โดยใช้บัตรภาพให้เด็กเรียงลำดับเหตุการณ์ เพื่อฝึกความจำและการเรียบเรียงความคิด
48.  ฝึกทำสมุดภาพส่วนตัว โดยให้เด็กวาดรูปหรือแปะภาพที่เกี่ยวกับตนเอง เพื่อเสริมการรู้จักตัวเองและการจัดระเบียบข้อมูล

กิจกรรมพัฒนา EF สำหรับเด็กอายุ 7 - 12 ปี เพื่อพัฒนาทักษะที่ซับซ้อนและความสัมพันธ์

49.  ฝึกเขียนบันทึกประจำวัน ให้เด็กเขียนเรื่องราวประจำวัน เพื่อเสริมการจัดระเบียบความคิดและความจำ
50.  เล่นกีฬาแบบทีม ฝึกการเล่นกีฬาที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น ฟุตบอล เพื่อฝึกการทำงานเป็นทีมและการควบคุมอารมณ์
51.  เกมแก้ปัญหา (Problem-Solving Games) ให้เด็กเล่นเกมที่ต้องแก้ปัญหา เช่น เกมปริศนา เพื่อเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการยืดหยุ่น
52.  โครงการช่วยเหลือชุมชนหรือจิตอาสา โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น เก็บขยะในชุมชน เพื่อพัฒนาความรับผิดชอบและความเห็นอกเห็นใจ
53.  จัดงานหรือกิจกรรมเล็ก ๆ โดยให้เด็กช่วยวางแผนงานวันเกิดหรือกิจกรรมในครอบครัว เพื่อเสริมทักษะการวางแผนและการทำงานร่วมกัน
54.  เขียนแผนการเรียนรู้รายสัปดาห์ โดยให้เด็กวางแผนสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสริมทักษะการจัดการเวลา
55.  แก้ปริศนาทางคณิตศาสตร์ ฝึกทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่เหมาะสมกับวัย เพื่อเสริมทักษะการคิดเชิงตรรกะ
56.  ทำอาหารง่าย ๆ โดยให้เด็กช่วยทำเมนูง่าย ๆ เช่น แซนด์วิช เพื่อฝึกการวางแผนและการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอน
57.  ทำโครงการเก็บออมเงิน โดยให้เด็กตั้งเป้าหมายการเก็บเงินและวางแผนใช้จ่าย เพื่อเสริมความรับผิดชอบและการวางแผน
58.  แก้สถานการณ์สมมติ โดยสร้างสถานการณ์ เช่น ไฟดับต้องทำอย่างไร ไฟไหม้ต้องทำอย่างไร เพื่อฝึกการแก้ปัญหาและการปรับตัว
59.  ฝึกเขียนรายงานเกี่ยวกับสัตว์หรือสิ่งที่ชอบ โดยให้เด็กเลือกหัวข้อที่สนใจและค้นคว้าเขียนรายงานเพื่อพัฒนาการจัดระเบียบความคิดและการเขียน
60.  ฝึกแสดงความคิดเชิงวิเคราะห์ โดยให้เด็กอภิปรายหรือเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในข่าวหรือเรื่องที่สนใจ เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์และการแสดงออก

ทั้งนี้ กิจกรรมพัฒนา EF เหล่านี้ สามารถทำได้ทั้งในและนอกโรงเรียน โดยสามารถปรับระดับความยากง่ายให้เหมาะสมกับช่วงอายุและความสามารถของเด็ก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่เต็มศักยภาพในแต่ละด้านให้ครบถ้วน

MFGM สารอาหารในนมแม่เพื่อ IQ และทักษะจัดการสมอง EF ที่เหนือกว่า

MFGM สุดยอดสารอาหารสมองจากนมแม่ สารอาหารชนิดเดียวที่ช่วยให้ลูกมี IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก ประกอบไปด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด เช่น สฟิงโกไมอีลิน ฟอสโฟลิปิด แกงกลิโอไซต์ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการด้านสมองและการเรียนรู้ ให้ลูกได้มีทักษะจัดการสมอง EF ที่เหนือกว่า
 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

Shopee TH Lazada TH Join Enfamama