คุณค่าของสารอาหารในน้ำนมแม่
ในน้ำนมแม่อุดมด้วยสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการสมองของลูกน้อย

- แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี จึงต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา และยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ จับกับธาตุเหล็กในลำไส้ได้ ทำให้แบคทีเรียซึ่งต้องใช้โมเลกุลของธาตุเหล็กอิสระช่วยในการเจริญเติบโตไม่ สามารถเติบโตต่อได้ จึงช่วยปกป้องลูกจากการติดเชื้อ
- เอ็มเอฟจีเอ็ม (MFGM) สารอาหารสมองในน้ำนมแม่ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบล่าสุดว่า เมื่อกรดไขมันทุกชนิดรวมทั้งดีเอชเอและเออาร์เอ ถูกผลิตออกมาจากต่อมผลิตน้ำนม จะถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อบางๆ เรียกว่า MFGM (Milk Fat Globule Membrane) ซึ่งนับเป็นสารอาหารในน้ำนมแม่ ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด ทำหน้าที่ช่วยสร้างปลอกไขมันหุ้มเส้นใยสมอง (Myelin Sheath) เพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณประสาท เชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง
- ดีเอชเอ (DHA หรือ Docosahexaenoic Acid) คือ สารอาหารในน้ำนมแม่ที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบสำคัญของไขมันในสมองและจอประสาทตา ซึ่งลูกจะได้รับโดยตรงจากน้ำนมแม่ ที่สำคัญ DHA ในน้ำนมแม่ยังเพิ่มขึ้นตามปริมาณอาหารที่คุณแม่รับประทานด้วย
- ทอรีน (Taurine) สารอาหารในนมแม่ที่ช่วยบำรุงสมองและช่วยพัฒนาเรื่องการมองเห็นของลูกได้ดี
-
ไลโซไซม์ (Lysozyme) เป็นเอนไซม์ที่มีในน้ำนมแม่มากกว่านมวัวถึง 3,000 เท่า มีฤทธิ์ย่อยสลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย ทำให้เชื้อตาย แถมยังเติมลงในนมผงไม่ได้ เพราะเอนไซม์ต่างๆ จะถูกทำลายด้วยความร้อนในขั้นตอนที่นำนมผงไปฆ่าเชื้อก่อนบรรจุกระป๋องด้วย
นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

สารอาหารในโคลอสตรัมน้ำนมแม่
ในช่วง 2-3 วันหลังคลอด แม่จะหลั่ง “โคลอสตรัม” (Colostrum) ออกมา คือน้ำนมใสสีเหลือง หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่านมน้ำเหลือง หรือหัวน้ำนม น้ำนมแม่ชนิดนี้จะมีภูมิคุ้มกันจากแม่สูงที่สุด และจะพบแลคโตเฟอร์ริน ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรคหลายอย่าง เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคหูน้ำหนวก โรคทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้ เป็นต้น
สารอาหารในน้ำนมแม่ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้
สำหรับลูกวัยทารก น้ำย่อยอาหารในกระเพาะลำไส้ยังทำงานไม่เต็มที่ อีกทั้งภูมิคุ้มกันที่คอยดักจับสารแปลกปลอมในร่างกายก็ยังพัฒนา ไม่ดีพอ โปรตีนแปลกปลอมจึงมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่าย แต่ในนมแม่ นอกจากจะมีโปรตีนชนิดที่ทำให้ไม่เกิดการแพ้แล้ว ยังมีสารภูมิคุ้มกันที่จะไปเคลือบเยื่อบุลำไส้ ทำให้ไม่แพ้ด้วย
น้ำนมแม่คือวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่
ลูกน้อยวัยทารกยังสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ไม่ดี จึงมีภูมิต้านทานเชื้อโรคน้อยมาก แต่ลูกก็รับภูมิต้านทานโรคได้โดยตรงจากน้ำนมแม่
สารอาหารในน้ำนมแม่ช่วยป้องกันแบคทีเรีย
ในน้ำนมแม่มี Bifidus Growth Factor เป็นสารอาหารในน้ำนมแม่ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแล็กโตบาซิลลัส (ซึ่งไม่มีในน้ำนมวัว) ซึ่งเป็นเชื้อที่ช่วยให้เกิดกรดอินทรีย์ในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียชนิดร้ายอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ แลคโตสในน้ำนมแม่เองก็ยังเปลี่ยนเป็นกรดแลกติก ที่ช่วยให้ลำไส้มีสภาพเป็นกรดจนแบคทีเรียไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกแรงหนึ่งด้วย
สารอาหารในน้ำนมแม่ช่วยให้ลูกมีระบบขับถ่ายดี
นมแม่เป็นอาหารธรรมชาติ สะอาด และย่อยง่าย ทั้งยังมีสารที่ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง มีสารช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีที่ไม่ก่อให้เกิด โรคในลำไส้ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย และช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในลำไส้ลงได้มากลูกน้อยที่กินนมแม่ นอกจากจะไม่มีปัญหาท้องผูกแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดท้องเสียน้อยลงด้วย
น้ำนมแม่ดีต่ออารมณ์และจิตใจของลูก
การให้นมแม่แต่ละครั้งแม่จะต้องโอบกอดลูกแนบอก ความสุขใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอบอุ่น จะถูกปลูกฝังไว้ในจิตใจลูกตั้งแต่วัยแรกเริ่มของชีวิต ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทั้งทางอารมณ์ และจิตใจ
สารอาหารในน้ำนมแม่ดีต่อสมองของลูก
เนื่องจากในน้ำนมแม่ตั้งแต่หยดแรก จะมี Lactoferrin MFGM และ ดีเอชเอ ที่เป็นสารที่มีส่วนช่วยพัฒนาสมองได้โดยตรง โดยมีงานวิจัยชี้ว่าเด็กที่ดื่มนมที่เสริม MFGM จะพัฒนาทางด้านสติปัญญาดีกว่าเด็กที่ดื่มนมสูตรปกติที่เพิ่มดีเอชเอเพียงอย่างเดียวถึง 4 จุด
น้ำนมแม่ดีต่อพัฒนาการของลูกน้อย
เด็กที่ได้ดื่มนมแม่อย่างสม่ำเสมอ จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างรอบด้านผ่านการดื่มน้ำนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้กลิ่นของแม่ผ่านการโอบกอดใกล้ชิด การใช้ปากและอวัยวะในช่องปาก การสบตากับแม่ การเห็นหน้าแม่ขณะดูดนม การพัฒนากล้ามเนื้อแขนขาเมื่อเล่นกับแม่ และพัฒนาการของระบบการย่อยอาหาร
- Timby N. Domellof E, Hernell O, Lonnerdal B, Magnus Domellof M. Neurodevelopment, nutrition, and growth until 12 mo of age in infants fed a low-energy, low-protein formula supplemented with bovine milk fat globule membranes: a randomized controlled trial. Am J Clin Nutr. 2014;99:860-868.
