นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ไวท์ดอทมีกี่แบบ? รับมืออย่างไรเมื่อมีไวท์ดอทตอนให้นมลูก

Enfa สรุปให้

  • ไวท์ดอทไม่ได้ท้อง ก็สามารถเกิดไวท์ดอทที่หัวนมได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล หรืออาจเกิดการติดเชื้อต่าง ๆ ขึ้นที่เต้านมหรือท่อน้ำนม
  • ไวท์ดอทมีกี่แบบ? ไวท์ดอทมีแบบปกติ คือสามารถที่จะดูดออกหรือเช็ดออกได้โดยง่าย แต่ไวท์ดอทแบบหนาจะมีหนังหนา ๆ สีขาวขึ้นที่หัวนมและไม่สามารถเช็ดออกได้ ต้องไปเข้ารับการรักษากับแพทย์
  • จุดขาวไวท์ดอทมีกี่แบบ? มีทั้งแบบที่สามารถกำจัดออกได้ และแบบที่ไม่สามารถกำจัดออกได้เอง ต้องทำการรักษาโดยตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันภาวะการอักเสบที่เต้านม

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ไวท์ดอท (White Dot) หรือจุดขาวที่หัวนม เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คุณแม่หลายคนกังวลระหว่างให้นมลูก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการให้นมและทำให้เกิดความไม่สบายตัวที่เต้านม แต่จุดขาวไวท์ดอทเกิดจากอะไร? ไวท์ดอทมีกี่ประเภท? และจะรับมือได้อย่างไร? บทความนี้จาก Enfa มีคำตอบค่ะ

ไวท์ดอท (White dot) คืออะไร


ไวท์ดอท (White dot) หรือ จุดขาวที่หัวนม จริง ๆ แล้วก็คือสัญญาณของท่อน้ำนมอุดตันนั่นเอง เกิดจากน้ำนมที่ตกตะกอนเป็นก้อนและอุดตันในท่อน้ำนม แต่คุณแม่จะมองเห็นก้อนตะกอนนั้นที่บริเวณท่อน้ำนมส่วนปลาย หรือก็คือจุดขาว ๆ ที่หัวนมนั่นเอง หรือบางครั้งไวท์ดอทก็อาจจะมีสีเหลืองอ่อนได้เช่นกันค่ะ

ไวท์ดอทที่หัวนม หากไม่ได้รับการระบายหรือรักษาท่อน้ำนมอุดตัน ก็จะทำให้น้ำนมเกิดเป็นตะกอนตกค้างและอุดตันมากขึ้นจนเกิดการอักเสบ ทารกก็จะกินนมได้น้อยลง และจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บเต้านมมากขึ้นด้วย และถ้าหากปล่อยเอาไว้นานเข้าโดยไม่ได้รับการรักษา ก็จะลุกลามกลายเป็นเต้านมอักเสบ หรือกลายเป็นฝีที่เต้านมไปเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม การมีไวท์ดอทนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับแม่ตั้งครรภ์และแม่ให้นมบุตรเพียงอย่างเดียวนะคะ เพราะผู้หญิงอีกหลายคนก็มีไวท์ดอทได้แม้ไม่ได้ตั้งครรภ์ และไม่ได้อยู่ระหว่างการให้นมบุตร

ไวท์ดอทไม่ได้ท้อง เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ส่วนมากแล้วจะมีสาเหตุมาจากความผกผันของฮอร์โมนในร่างกาย หรือฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลกัน ก็ส่งผลทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำนม และมีจุดสีขาว ๆ ที่ปลายหัวนมได้เช่นกัน

หรือบางครั้งอาจมีการติดเชื้อบางอย่างที่เต้านมหรือหัวนม หรือมีภาวะเต้านมอักเสบ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไวท์ดอทได้ แม้จะไม่ได้อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่ามีไวท์ดอทที่หัวนม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพแบบใด จะอยู่ระหว่างการให้นมลูก หรือยังไม่ได้ตั้งครรภ์ก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ

ไวท์ดอท มีกี่แบบ และมีอาการอย่างไร?


อาการทั่วไปที่มักเกิดขึ้นพร้อมกับไวท์ดอทที่คุณแม่สามารถสังเกตได้ ได้แก่

  • มีจุดสีขาวเกิดขึ้นที่หัวนม
  • เวลาให้นมลูก เวลาปั๊มนมลูก จะรู้สึกเจ็บปวดมาก
  • เกิดการอุดตันของท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลออกน้อย

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้เป็นอาการทั่วไปของไวท์ดอท ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของไวท์ดอทแต่ละแบบค่ะ

จุดขาวไวท์ดอทมีกี่แบบ? โดยทั่วไปแล้วจุดขาวที่หัวนม สามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ ดังนี้

ไวท์ดอทแบบปกติ

คุณแม่สามารถสังเกตเห็นอาการร่วมของไวท์ดอทแบบปกติ ได้ ดังนี้

  • อาจมีหรือไม่มีหนังบาง ๆ ปิดอยู่ที่จุดสีขาวบนหัวนมก็ได้
  • เวลาปั๊มนม หรือเอาลูกเข้าเต้า พบว่าเนื้อบาง ๆ หรือจุดสีขาวนั้นสามารถหลุดออกได้หลังจากที่ลูกดูดนม หรือหลังการปั๊มนม
  • ไวท์ดอทแบบปกติจะเกิดขึ้นและอยู่ได้ไม่นานก็หลุดออกเองได้โดยไม่ต้องแกะ

ไวท์ดอทแบบหนา

คุณแม่สามารถสังเกตเห็นอาการร่วมของไวท์ดอทแบบหนา ได้ ดังนี้

  • สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีหนังหนา ๆ เกิดขึ้นรอบ ๆ ท่อน้ำนมหรือรอบหัวนม ซึ่งเกิดจากแผลที่สะกิดไวท์ดอทออก หรือเกิดขึ้นเพราะเป็นไวท์ดอทหลายครั้ง
  • เกิดไวท์ดอทขึ้นแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • ผิวหนังหนา ๆ รอบหัวนมนั้นไม่สามารถเช็ดออกได้ แม้จะพยายามเช็ดหลายรอบแล้วก็ตาม

ซึ่งไวท์ดอทนี้ สามารถเกิดขึ้นกับหัวนมแค่ข้างเดียว หรือจะเกิดขึ้นทั้งสองข้างก็ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้มีท่อน้ำนมอุดตันรุนแรงจนทำให้เต้านมอักเสบ ซึ่งจะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพของทารกน้อยและสุขภาพของคุณแม่เองด้วย

วิธีดูแลอาการนี้เบื้องต้น


หากคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่ามีจุดไวท์ดอทขึ้นที่หัวนม สามารถรับมือได้ทันที ดังนี้

  • พยายามให้นมลูกในเวลาที่ลูกหิว เพราะทารกจะดูดแรง สามารถช่วยทำให้จุดไวท์ดอทหลุดออกมาได้
  • หากลูกดูดนมแล้ว แต่ไวท์ดอทก็ยังไม่หลุด อาจให้สามีช่วยดูดนมออกได้เช่นกัน แต่จะต้องล้างทำความสะอาดช่องปากให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น แล้วนำมาเช็ดเบา ๆ จนกว่าจะหลุดออก
  • หากยังไม่ออก ให้ทำการนวดหรือประคบอุ่นที่หัวนม หรือทำการนวดวน ๆ ที่หัวนมและรอบหัวนมด้วยน้ำมันมะกอก

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรพยายามบีบจุดขาวนั้นออกด้วยตัวเอง ไม่ควรพยายามเจาะด้วยตัวเอง เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย หรือทำให้เกิดการติดเชื้อได้หากทำไม่ถูกวิธี

ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการระบายตะกอนน้ำนมในท่อน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการท่อน้ำนมอุดตันแบบเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ส่งเสียต่อสุขภาพของคุณแม่ และยังเป็นผลเสียต่อทารกอีกด้วย เนื่องจากน้ำนมจะไหลน้อยลง ทำให้ลูกได้รับโภชนาการและสารอาหารที่ไม่เพียงพอ

3 ภาวะสำคัญ ของอาการไวท์ดอท


อาการไวท์ดอทนั้น เกิดจากการตกตะกอนของน้ำนม จนเกิดการแข็งตัวในท่อน้ำนม อุดกั้นภายในท่อน้ำนมทำให้น้ำนมไหลออกมาได้น้อย เมื่อน้ำนมระบายออกมาไม่ได้ ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดที่เต้านมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกเข้าเต้าและพยายามดูดนมแต่น้ำนมก็ไม่ไหลออกมา หรือไหลออกได้น้อย

มากไปกว่านั้น หากคุณแม่ยังไม่สามารถระบายน้ำนมออกมาได้ หรือปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อทำการเจาะท่อน้ำนม ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังและรุนแรงต่อเต้านม ได้แก่

  • ท่อน้ำนมอุดตัน (Plugged duct) ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด และยังอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากไม่ได้รับการระบายท่อน้ำนมที่อุดตันออกมาให้หมด
  • ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่เต้านม และเต้านมมีอาการบวมแดง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  • ฝีเต้านม (Milk Blister) มีลักษณะเป็นจุดสีขาว ๆ หรือสีเหลืองขนาดเท่าหัวหมุดที่หัวนม ลักษณะคล้ายสิวหัวขาว และรอบบริเวณรอบหัวนมจะมีตุ่มสีขาวเกิดขึ้น มีอาการบวมแดงและอักเสบ ทำให้รู้สึกเจ็บมากเวลาให้นมลูก

อาการไวท์ดอท หากไม่รีบรักษาอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บปวดมากเวลาให้นมลูก และอาจต้องเข้ารับการรักษาอย่างการผ่าตัด เพื่อระบายเอาตะกอนน้ำนมที่อุดตันภายในท่อน้ำนมออก เป็นเรื่องใหญ่ตามมาวุ่นวายทีเดียวค่ะ

มากไปกว่านั้น หากปล่อยไว้เรื้อรัง ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ทารกก็จะได้กินนมแม่น้อยลง ทำให้ได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ไม่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตได้ค่ะ

ดังนั้น หากมีอาการไวท์ดอทให้รีบพยายามระบายน้ำนมออก แต่ถ้าระบายแล้วยังไม่ออก หรือยังมีอาการไวท์ดอทเกิดขึ้นซ้ำๆ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์


จริง ๆ แล้วคุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อพบว่าเริ่มมีจุดไวท์ดอทขึ้นที่หัวนม หรือหากลองพยายามเช็ดหรือให้ลูกดูดแล้วแต่ก็ยังไม่ออก ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม และระบายตะกอนน้ำนมอกมาก่อนจะสะสมกลายเป็นภาวะท่อน้ำนมอุดตันจนเต้านมอักเสบหรือเกิดเป็นฝีที่เต้านม

คุณแม่หลังคลอดจำเป็นจะต้องสังเกตความผิดปกติของเต้านมอยู่เสมอ หากมีอาการผิดสังเกตควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุดทันที เพราะถ้าหากละเลย นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่เองแล้ว การที่น้ำนมไหลน้อย หรือน้ำนมไม่ไหลเพราะท่อน้ำนมอุดตัน อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารกได้ เนื่องจากได้รับโภชนาการและสารอาหารจากนมแม่น้อยลงค่ะ

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama