Enfa สรุปให้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก โดยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือนทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียว คุณแม่จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้นมลูกตั้งแต่ก่อนคลอด หากพบความผิดปกติของเต้านมและหัวนมที่ส่งผลต่อการให้นมลูก เช่น หัวนมสั้น หัวนมบอด จะได้ทำการแก้ไขได้ทัน
คุณแม่เตรียมคลอดและเตรียมให้นมลูกควรได้รับการตรวจประเมินลักษณะเต้านมและหัวนมก่อนคลอด โดยหัวนมปกติไม่ควรสั้นกว่า 1 เซนติเมตร เพราะหากหัวนมสั้นเกินไปเด็กจะดูดนมไม่ได้ ยกเว้นลานนมและเต้านมนุ่มมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วเต้านมคุณแม่หลังคลอดมักจะคัดตึงและแข็ง จึงควรแก้ไขอาการหัวนมสั้นก่อนคลอด
การทดสอบความยาวหัวนมทำได้โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือวางที่ขอบลานหัวนมแล้วรูดไปที่หัวนม เป็นการจำลองการงับและดูดนมของทารก จากนั้นทำการวัดความยาวหัวนมโดยใช้สายวัดหรือไม้บรรทัดก็ได้ หากได้ประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร แสดงว่าหัวนมดี หากหัวนมมีความยาวน้อยกว่า 0.7 เซนติเมตร แสดงว่าหัวนมสั้น
หากคุณแม่หัวนมสั้นจะทำให้ทารกดูดนมได้ยาก เพราะปากทารกงับหัวนมไม่ติด ทำให้ไม่มีแรงดูด น้ำนมไม่ออก นอกจากส่งผลต่อลูกทำให้กินนมไม่อิ่มหรือกินนมไม่ได้แล้ว ยังทำให้คุณแม่เกิดอาการเต้านมคัดตึงปวดอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความกังวลใจต่อคุณแม่ซึ่งได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนหลังคลอด ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ด้วย
ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมให้นมบุตรตั้งแต่ก่อนคลอดเพื่อรีบแก้ไขอาการหัวนมสั้น ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น Hoffman’s Maneuver, Nipple Puller และ Syringe Puller เป็นต้น
นอกจากการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจประเมินความพร้อมเต้านมและหัวนมแล้ว ยังมีวิธีที่คุณแม่สามารถตรวจอาการหัวนมสั้นด้วยตนเองได้ด้วย โดย Enfa ขอแนะนำวิธีง่าย ๆ สำหรับตรวจหัวนมสั้นให้คุณแม่ 3 วิธี คือ
Waller’s Test
คือ การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางที่โคนหัวนมโดยให้นิ้วทั้งสองชิดหัวนมตรงรอยต่อระหว่างหัวนมและลานหัวนม จากนั้นกดนิ้วทั้งสองข้างเข้าหากันเบาๆ คล้ายการดูดนมของทารก หากจับหัวนมได้ติดแสดงว่าหัวนมปกติ แต่ถ้าจับหัวนมไม่ติดแสดงว่าหัวนมสั้นเกินไป ทารกอมหัวนมได้ยากทำให้ดูดนมแม่ไม่ได้
Pinch Test
คือ การวางหัวแม่มือและนิ้วชี้ไว้ที่ฐานของหัวนมใกล้กับขอบลานนม จากนั้นค่อย ๆ กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหากัน เพื่อบีบหัวนมเบา ๆ ให้หัวนมยื่นออกมาจากลานนม โดยหัวนมปกติควรมีหัวนมยื่นออกมาจากลานนมประมาณ 1 เซนติเมตร หากหยิบไม่ติดแสดงว่าหัวนมสั้นเกินไป
การวัดความยาวหัวนม
คือ การวัดความยาวของหัวนมจากฐานลานนมโดยใช้สายวัดหรือไม้บรรทัด โดยความยาวหัวนมปกติควรยาว 0.7-1 เซนติเมตร หากวัดแล้วพบว่าหัวนมยาวน้อยกว่า 0.7 เซนติเมตร แสดงว่าหัวนมสั้น แต่หากหัวนมไม่ยื่นออกมาหรือบุ๋มลงไปในลานนม แสดงว่าหัวนมบอด
หากคุณแม่ตรวจความยาวของหัวนมด้วยตนเองแล้วพบว่า หัวนมคุณแม่มีความผิดปกติ เช่น หัวนมสั้น หรือหัวนมบอด สามารถทำการแก้ไขหัวนมสั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้นมลูกหลังคลอดได้ง่าย โดยมีวิธีการ ดังนี้
Hoffman’s Maneuver
คือ การวางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างตรงข้ามกันโดยให้ปลายนิ้วชิดโคนหัวนม จากนั้นกดนิ้วลงแล้วดึงนิ้วออกจากกันโดยรูดจากฐานหัวนมออกไปด้านนอกเบาๆ ทำซ้ำโดยเวียนจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง จนรอบบริเวณหัวนม แนะนำให้ทำซ้ำ 10-20 ครั้งต่อข้างหลังอาบน้ำ หรือทำเฉพาะข้างที่หัวนมมีปัญหา
ทั้งนี้ วิธีการทำ Hoffman’s Maneuver เหมาะกับคุณแม่ที่หัวนมสั้นไม่มาก และควรใช้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสูตินรีแพทย์และแพทย์ทารกแรกเกิด เนื่องจากการนวดกระตุ้นหัวนมมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกได้ เช่น คลอดก่อนกำหนด
Nipple Rolling
คือ การกระตุ้นหัวนมสั้นโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับด้านข้างของหัวนมที่ติดกับลานนมยืดขึ้นและค้างไว้หรือนวดคลึงเบา ๆ ทำซ้ำ 10 ครั้งวันละ 2 ครั้ง วิธีนี้เหมาะกับคุณแม่ที่หัวนมสั้นไม่มาก
Nipple Puller
คือ การแก้หัวนมสั้นโดยใช้อุปกรณ์ดึงหัวนมที่มีลักษณะคล้ายลูกยาง โดยให้คุณแม่ใช้นิ้วมือบีบกระเปาะยางแล้วนำจุกไปครอบหัวนม จากนั้นปล่อยนิ้วที่บีบกระเปาะเบา ๆ ลูกยางจะดูดหัวนมติดไว้ ทิ้งไว้สัก 5 วินาทีแล้วค่อยบีบกระเปาะยางเพื่อคลายออก แล้วจึงทำซ้ำ แนะนำให้คุณแม่เริ่มใช้ Nipple Puller หลังจากอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไปหรือหลังคลอด แต่ห้ามใช้ในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ไม่ดูดทิ้งไว้นานๆ หรือดึงออกโดยไม่บีบกระเปาะลม เพราะจะทำให้เจ็บ
Syringe Puller
คือ การแก้หัวนมสั้นโดยใช้ไซริงค์ (syringe) ซึ่งหาได้ง่ายและทำได้ง่าย แต่อาจไม่นุ่มนวลเท่าวิธีอื่นๆ ทำได้โดยดึงลูกสูบขึ้นประมาณ 1/3 ของกระบอก แล้วนำด้านที่มีปีกมาครอบหัวนมให้สนิท ดึงลูกสูบช้า ๆ จนเห็นหัวนมยื่นยาวออกมา โดยให้ทำวันละ 3-5 นาที ทั้งนี้ควรได้รับการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์
ปทุมแก้วคืออีกหนึ่งตัวช่วยแก้ปัญหาหัวนมสั้น โดยเฉพาะในคุณแม่ที่มีลานหัวนมแข็งตึง หัวนมสั้นหรือบอด แนะนำให้ใช้ปทุมแก้ว (Breast shell) ใส่ครอบหัวนมเพื่อกระตุ้นให้ลานนมนิ่ม ห้ามใส่นานเกินไป และไม่ควรใส่ตอนกลางคืน หากคุณแม่ใช่ปทุมแก้วหลังคลอด ระหว่างวันอาจมีน้ำนมไหลนองอยู่ในปทุมแก้ว ห้ามนำน้ำนมนี้มาให้ลูกกิน เนื่องจากปทุมแก้วไม่ได้ฆ่าเชื้อ
การใช้ปทุมแก้ว (Breast shells หรือ Breast cups) ควรใช้ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์หรือหลังคลอด วิธีใช้ปทุมแก้วไม่ยากคือให้ใส่ครอบหัวนม ให้หัวนมอยู่ตรงกลางรูของฐานปทุมแก้ว ส่วนของปทุมแก้วนาบกับลานนม โดยใส่ไว้ใต้เสื้อชั้นในเฉพาะเวลากลางวันหลังอาบน้ำ เริ่มต้นด้วยการใส่วันละ 2-3 ชั่วโมง เมื่อคุ้นเคยแล้วให้ใส่เฉพาะกลางวัน หากใส่หลังคลอดควรใส่ก่อนให้นมบุตร 30 นาทีก่อนให้ลูกดูดนม อาจใช้ประมาณ 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ตามคำแนะนำแพทย์
น้ำนมที่ร่างกายผลิตขึ้นในระยะ 1-3 วันแรกหลังคลอด เรียกว่า “น้ำนมเหลือง” (Colostrum) ถือเป็นน้ำนมส่วนที่ดีที่สุด เพราะมีภูมิคุ้มกันสูง เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่ รวมทั้งมี “แลคโตเฟอร์ริน” สารอาหารสำคัญในนมน้ำเหลือง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย
หากคุณแม่หัวนมสั้นเกินไป หรือสั้นกว่า 1 เซนติเมตร หรือมีลานนมแข็งตึง ทารกจะไม่สามารถงับหัวนมได้ ทำให้ดูดน้ำนมไม่ได้ ส่งผลให้ลูกกินไม่อิ่มหรือขาดอาหาร จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอาการหัวนมสั้น
คุณแม่ที่มีหัวนมสั้นสามารถให้นมลูกได้โดยใช้จุกครอบหัวนมซิลิโคนครอบทับหัวนมขณะให้นมลูก ทารกจะสามารถดูดนมจากเต้าคุณแม่ได้ง่ายขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้ลูกติดจุกครอบและปฏิเสธหัวนมแม่ คุณแม่ควรรีบแก้ไขอาการหัวนมสั้นโดยเร็วซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีภายใต้คำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น Hoffman’s Maneuver, Nipple Puller และ Syringe Puller เป็นต้น
การแก้ไขอาการหัวนมสั้นควรเริ่มตั้งแต่ก่อนคลอด โดยทำได้ขณะท้องแก่หรืออายุครรภ์ประมาณ 32-37 สัปดาห์ขึ้นไปภายใต้ดุลยพินิจของสูตินรีแพทย์หรือแพทย์ทารกแรกเกิด เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่เริ่มแก้ไขอาการหัวนมสั้นหลังคลอด อาจต้องใช้ขวดนมหรือจุกครอบนมเสริมในช่วงแรก เพื่อให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ
Enfa สรุปให้ ท้อง 8 เดือนเต้าไม่คัด หรือหลังคลอดเต้าไม่คัด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ พ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ หัวนมเป็นแผล ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่หลายคน สาเหตุหลักมาจากการที...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ การให้นมลูกแฝดควรใช้ท่าอุ้มลูกฟุตบอลหรือท่าอุ้มด้านข้าง ซึ่งคุณแม่ส...
อ่านต่อ