ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
คุณแม่มือใหม่ที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีเรื่องราวให้ต้องเรียนรู้มากมาย และเรื่องการให้ลูกดูดนมแม่ก็เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่ไม่แน่ใจว่าตนเองได้ให้ลูกดูดนมถูกท่าจนลูกได้กินนมอย่างที่ต้องการหรือยัง
ในระยะแรก สิ่งที่คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มให้ลูกดูดนมจากเต้าต้องเผชิญก็คือ ลูกดูดได้ถูกท่าหรือยัง การดูดนมของลูกทำให้น้ำนมออกมามากเพียงพอหรือไม่ ทำไมเมื่อลูกดูดนมแล้วคุณแม่รู้สึกเจ็บนม ฯลฯ เพื่อตอบข้อสงสัยของคุณแม่ในเรื่องนี้ เรามีท่าดูดนมแม่ที่ถูกต้องมาช่วยคลายความกังวลของบรรดาคุณแม่มาแนะนำ
สำหรับเรื่องการดูดนมนี้สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องทำให้ถูกต้องคือ การให้ลูกดูดนมโดยอมหัวนมได้อย่างถูกต้องนั่นเองค่ะ
ขั้นตอนการดูดนมและอมหัวนมอย่างถูกต้อง
- คุณแม่ประคองลูกด้วยแขนข้างเดียวกับเต้านมที่จะให้ลูกดูด ฝ่ามือประคองลำตัวและก้นลูกไว้ ให้ศีรษะลูกอยู่ตรงข้อพับข้อศอกแม่
- ใช้มืออีกข้างจับเต้านมโดยทำมือเป็นรูปตัว C ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน และนิ้วมืออื่นๆ อีก 4 นิ้วอยู่ด้านล่าง
- พยายามให้ลูกอ้าปากกว้างๆ โดยใช้หัวนมแตะที่จมูกหรือริมฝีปากลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้น
- เมื่อลูกอ้าปาก ให้กอดลูกแนบเต้านม (ไม่เอนตัวเพื่อให้เต้านมเข้าหาลูก) สอดหัวนมเข้าปากลูก
- ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าลูกอมลานหัวนมได้ลึกดีพอ และใช้เหงือกกดลงบนลานนม เพราะถ้าลูกอมเฉพาะส่วนหัวนมคุณแม่จะเจ็บมาก และน้ำนมก็ไหลได้ไม่ค่อยดีด้วย
- ให้คุณแม่ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางรั้งเต้านม เพื่อให้ลูกดูดนมสะดวกขึ้น และกันไม่ให้เต้านมอุดปิดจมูกลูกด้วย
คุณแม่รู้ได้อย่างไรว่าลูกดูดนมได้ถูกต้อง?
- ลูกอมหัวนมได้ลึกและลานหัวนมส่วนใหญ่อยู่ในปากลูก ขณะลิ้นลูกอยู่ใต้หัวนม จะมีแรงกดบนลานหัวนมเพื่อบีบให้น้ำนมไหล
- ถ้าลูกดูดนมได้อย่างถูกต้อง คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่รู้สึกว่าหัวนมถูกดูดเป็นจังหวะขณะลูกกำลังดูดนมอยู่ อาจรู้สึกจี๊ดๆ หรือรู้สึกแปลบในเต้านม ซึ่งเป็นกลไกน้ำนมพุ่ง ให้หายใจลึกๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายได้
- ลูกดูดแรงโดยใช้ลิ้นรีดน้ำนมเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เสียงดูดนมของลูกจะค่อนข้างเงียบ ไม่มีเสียงดัง คุณแม่จะได้ยินเสียงกลืนนมเบาเป็นจังหวะเท่านั้น
- ถ้าคุณแม่รู้สึกเจ็บ ให้หยุดแล้วเริ่มต้นใหม่ โดยใช้นิ้วก้อยสอดเข้าไปตรงมุมปากลูกเพื่อให้ลูกอ้าปาก ถอนปากลูกออกมา แล้วลองใหม่ อย่าปล่อยให้ลูกดูดนมทั้งๆ ที่เจ็บ เพราะจะทำให้หัวนมแตก เกิดการอักเสบได้
อีกเรื่องที่ควรรู้คือ การถอนเต้านมออกจากปากลูกอย่างถูกต้องเมื่อดูดนมจนอิ่มแล้ว
- เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางและดำเนินไปด้วยดี ควรปล่อยให้ลูกดูดนมได้นานเท่าที่ลูกต้องการ นอกจากเพื่อให้ลูกอิ่มท้องแล้ว ยังเป็นการระบายน้ำนมออก คุณแม่จะรู้สึกเต้านมไม่คัดตึงอย่างตอนแรก ระหว่างดูด ถ้าลูกหยุดเพราะหลับ ให้คุณแม่ใช้นิ้วขยับหัวนมกระตุ้นให้ลูกดูดต่อ
- เมื่อลูกหยุดดูดเพราะอิ่มแล้ว ให้ขยับตัวลูกออกห่างแทนการดึงหัวนมออก ไม่เช่นนั้นคุณแม่จะเจ็บมาก วิธีการคือใช้ปลายนิ้วก้อยสอดเข้าระหว่างเหงือกของลูก แล้วค่อยๆ เลื่อนหัวนมออก จึงเช็ดหัวนมด้วยสำลีชุบน้ำสะอาด เมื่อถึงมื้อต่อไปก็ให้ลูกดูดเต้านมอีกข้าง เพื่อให้เต้านมทั้งสองข้างได้รับการกระตุ้นเท่าๆ กัน
เมื่อลูกดูดนมได้ถูกท่า ได้กินนมจนอิ่ม ลูกจะหลับสบาย มีการเจริญเติบโตสมวัยอย่างที่คุณแม่ต้องการค่ะ
นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน
เพราะในน้ำนมเหลืองมี แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย
