
Enfa สรุปให้
ท่านอน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการนอนหลับของคนท้อง หากนอนในท่าที่เหมาะสม หรือนอนแล้วรู้สึกสบายตัว ก็จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบาย และหลับสนิทมากขึ้น
ในช่วงไตรมาสแรก คนท้องอาจสามารถนอนในท่าใดก็ได้ที่คุณแม่รู้สึกสบายตัวและไม่อึดอัด เนื่องจากในระยะนี้ขนาดครรภ์ยังไม่ใหญ่จนกระทบกับการนอน
ในช่วงไตรมาสสอง และไตรมาสสุดท้าย คุณแม่อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการนอนหงาย และเปลี่ยนมานอนตะแคงแทน เพราะช่วยลดแรงกดทับที่หลังและหลอดเลือดได้ดีกว่าการนอนหงาย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ขนาดครรภ์ก็จะใหญ่ขึ้น จนคุณแม่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว จะลุก จะนั่ง จะเดิน หรือแม้แต่ตอนจะนอน คุณแม่ท้องก็มักจะรู้สึกว่านอนได้ไม่เต็มที่ นอนลำบาก จนบ่อยครั้งก็ทำให้หลับ ๆ ตื่น ๆ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ วันนี้ Enfa มีเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับท่านอนสำหรับคนท้องมาฝากค่ะ มาดูกันสิว่า คนท้องควรจะนอนท่าไหน และท่านอนแบบไหนที่เป็นอันตรายต่อแม่ท้อง
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพที่ดี ทั้งยังเป็นการรีสตาร์ทความอ่อนล้าที่ผ่านมาทั้งวัน ให้รู้สึกมีแรง กระปรี้กระเปร่าหลังจากตื่นนอน
ท่านอน จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการนอนหลับของคนท้อง หากนอนในท่าที่เหมาะสม หรือนอนแล้วรู้สึกสบายตัว ก็จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบาย และหลับสนิทมากขึ้น
กลับกันถ้าคุณแม่นอนในท่าที่ไม่ถนัด หรือนอนในท่าที่ไม่สบายตัว ก็เสี่ยงจะรบกวนการนอนหลับของคุณแม่ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัว และอ่อนเพลียกว่าเดิม หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะท่านอนไม่ส่งเสริมต่อการนอนหลับที่ดี
หากเป็นช่วงไตรมาสแรก หรือช่วงที่อายุครรภ์น้อย ๆ การนอนหงายถือว่ายังทำได้ หากทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากกว่าในเวลานอน
แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น คุณแม่ไม่ควรนอนหงายค่ะ เพราะการนอนหงายในขณะที่มีครรภ์ใหญ่จะสร้างแรงกดดันต่อหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปยังมดลูก และลำเลียงเลือดเสียจากขาและเท้าไปยังหัวใจ ซึ่งแรงกดดันต่อหลอดเลือดนี้อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตในร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยช้าลงได้
อีกทั้งการนอนหงายก็ยังก่อให้เกิดอาการปวดหลัง หายใจไม่สะดวก ส่งผลต่อกระบวนการย่อยอาหารของคุณแม่อีกด้วย
ถ้านอนหงายไม่ได้ แล้วแบบนี้คนท้องนอนตะแคงได้ไหม?
คำตอบคือได้และปลอดภัยกับคุณแม่ท้องสุด ๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น ท่านอนตะแคงนี้จะช่วยให้รู้สึกสบายตัวและอึดอัดน้อยลงในเวลานอน
มากไปกว่านั้น การนอนตะแคงยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดแรงกดดันต่อเส้นเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังทารกได้อย่างเพียงพอ
คนท้องนอนท่าไหน ถึงจะเหมาะสม? จริง ๆ แล้วคนท้องควรนอนในท่านอนที่รู้สึกสบายที่สุดค่ะ แต่ละคนมีท่านอนประจำตัวไม่เหมือนกัน บางคนอาจชอบนอนตะแคง ชอบนอนคว่ำ หรือชอบนอนหงาย
แต่พออายุครรภ์มากขึ้น ก็จะมีปัจจัยเรื่องขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการนอน อาจทำให้ท่านอนบางท่าไม่สามารถทำได้สะดวก เช่น ท่านอนหงาย หรือท่านอนคว่ำ
การนอนตะแคงข้างซ้าย-ขวา จึงเหมาะกับแม่ที่มีครรภ์ใหญ่ เพราะมีความเสี่ยงต่อแรงกดดันที่หลังน้อย และไม่ส่งผลต่ออาการปวดหลัง ทั้งยังช่วยลดความรู้สึกอึดอัดด้วย
คนท้องไตรมาสแรก เรียกได้ว่านอนได้เกือบทุกท่าเลยค่ะ ตราบเท่าที่คุณแม่ไม่รู้สึกอึดอัด และนอนหลับได้สบาย จะนอนหงาย นอนตะแคง หรือนอนคว่ำก็สามารถทำได้
และเพื่อเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น แม่ท้องไตรมาสแรกสามารถนำหมอนมารองที่หว่างขา ก็จะช่วยบรรเทาความรู้สึกเมื่อยล้าที่บริเวณสะโพกและอุ้งเชิงกรานได้ หรือจะใช้หมอนรองเข่า ก็ช่วยได้เช่นกัน
ไตรมาสสองนี้ครรภ์ของคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้นแล้ว อาจเริ่มรู้สึกอึดอัดและไม่สบายตัวในเวลานอนอยู่บ้าง ระยะนี้คุณแม่หลาย ๆ คนอาจเริ่มหลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ หรือนอนหงาย เพื่อลดแรงกดดันจากครรภ์และทารกที่โตขึ้นทุกวัน และเริ่มเปลี่ยนมานอนตะแคงข้างแทน
หรือเพื่อให้นอนตะแคงได้ดีขึ้น อาจใช้หมอนรูปตัว U หรือรูปตัว C เพื่อเสริมให้คุณแม่อยู่ในท่านอนตะแคงได้ดีขึ้นในขณะนอนหลับ
ท่านอนคนท้อง 8-9 เดือน หรือคุณแม่ที่อยู่ในไตรมาสสามนั้น แน่นอนค่ะว่าควรจะนอนตะแคง เพราะดีต่อขนาดครรภ์ที่ใหญ่ และขนาดของทารกที่โตขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คุณแม่ไตรมาสสามสามารถนอนตะแคงได้สบายตัวมากขึ้น และลดการกดทับหลอดเลือดดำ ให้ลองใช้หมอนหนุนบริเวณช่วงบนของร่างกายในขณะที่นอน
สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการตกเลือดหรือคลอดก่อนกำหนด จึงอาจจะมีความกังวลว่าเวลานอนควรจะต้องนอนในท่าเฉพาะสำหรับแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำหรือเปล่า
ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าคุณแม่ที่มีภาวะนี้จะต้องนอนท่าไหน ขอเป็นท่าที่คุณแม่นอนได้สบายเป็นพอ แต่ถ้าขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้น การนอนตะแคงซ้าย-ขวา ก็ถือว่าเหมาะที่สุดสำหรับแม่ที่อายุครรภ์มากขึ้นค่ะ
ถ้าในช่วงไตรมาสแรก สามารถนอนได้ทุกท่าเลยค่ะ เพราะอายุครรภ์ยังไม่มาก และขนาดครรภ์ก็ยังไม่ทำให้รู้สึกอุ้ยอ้าย อึดอัด จนนอนไม่สบาย
แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นแล้ว คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายและนอนคว่ำค่ะ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดแรงกดดันต่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ ทั้งยังเสี่ยงต่ออาการปวดหลัง หรือรู้สึกอึดอัดได้
เพื่อให้คุณแม่สามารถนอนหลับได้สนิท และสบายตัวตลอดคืน อาจลองใช้คำแนะนำการนอนสำหรับคนท้องดังต่อไปนี้ได้
พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายจดจำช่วงเวลาที่ร่างกายของคุณแม่ต้องการพักผ่อนได้
ใช้หมอนเสริมเพื่อให้นอนสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การวางหมอนไว้ที่ใต้ท้อง วางหมอนไว้ใต้ขา วางหมอนไว้ใต้เข่า หรือวางหมอนไว้บริเวณอวัยวะช่วงบน
ม้วนผ้าห่มเล็ก ๆ วางไว้ที่หลัง หรือจะใช้หมอนก็ได้ค่ะ เพื่อลดแรงกดดันที่บริเวณหลัง
ใช้หมอนเสริมรูปตัว U หรือหมอนรูปตัว C เพื่อช่วยให้นอนตะแคงได้นานขึ้น
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนค่ะ และไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะนอกจากจะรบกวนการนอนหลับของคุณแม่แล้ว ยังส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ในระยะยาวด้วย
การพลิกตัวในขณะที่นอนหลับนั้น ไม่ได้อันตรายแต่อย่างใดค่ะ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง อีกทั้งการพลิกตัวบ่อย ๆ ก็ยังช่วยให้สบายตัวมากขึ้นด้วย
เวลานอนแปลนี่ ท่านอนที่เหมาะสมกับการนอนแปลที่สุดก็คือท่านอนหงาย ซึ่งสำหรับแม่ที่อายุครรภ์น้อย การนอนแปลอาจจะไม่ส่งผลเสียใด ๆ
แต่สำหรับแม่ที่อายุครรภ์มาก การนอนแปลอาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวได้ แต่สำหรับคุณแม่ที่รู้สึกว่านอนแปลแล้วสบายตัวก็สามารถทำได้นะคะ
อย่างไรก็ตาม ควรมั่นใจว่าแปลนั้นแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวของคุณแม่ได้ และไม่ควรไกวแปลเร็วเกินไป อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะได้ค่ะ
ในไตรมาสแรกคุณแม่สามารถนอนท่าใดก็ได้ ตราบเท่าที่คุณแม่นอนแล้วสบายตัว แต่พออายุครรภ์มากขึ้น ก็จะมีข้อจำกัดเรื่องของขนาดครรภ์ การนอนคว่ำและการนอนหงายจึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ในไตรมาสสองและไตรมาสสาม การนอนตะแคงจึงถือเป็นท่านอนที่เหมาะสมกับคนท้องมากที่สุดค่ะ
การนอนตะแคง สามารถช่วยลดแรงกดที่หลัง ช่วยลดความเสี่ยงของอาการปวดหลังได้
อย่างไรก็ตาม หากนอนท่าไหนแล้วรู้สึกสบายตัว ไม่ปวดหลัง ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
การนอนตะแคงไม่ถือเป็นการนอนทับลูกแต่อย่างใด และการนอนตะแคงยังลดแรงกดต่อหลังและหลอดเลือดด้วย
ดังนั้น ความเสี่ยงที่แม่จะนอนทับลูกจึงไม่มีค่ะ หรือการที่รู้สึกว่าเวลานอนตะแคงแล้วลูกดิ้นแรง ดิ้นเยอะ ก็เพราะว่าไม่มีแรงกดต่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงทารกได้เต็มที่ ทารกจึงมีแรงดิ้นได้เยอะขึ้น ไม่อึดอัด
- WebMD. Positioning While Sleeping. [Online] Accessed https://www.webmd.com/baby/positioning-while-sleeping. [25 August 2022]
- Healthline. What Are the Best Sleeping Positions When You’re Pregnant?. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/sleeping-positions-in-pregn…. [25 August 2022]
- American Pregnancy Association. Best Sleeping Positions During Pregnancy. [Online] Accessed https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellne…. [25 August 2022]
- What to expect. Sleeping Positions During Pregnancy. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/sleep-solutions/pregnancy-sleep-…. [25 August 2022]
- Kids Health. Sleeping During Pregnancy. [Online] Accessed https://kidshealth.org/en/parents/sleep-during-pregnancy.html. [25 August 2022]
- Sleep Foundation. Sleep Tips for Pregnant Women. [Online] Accessed https://www.sleepfoundation.org/pregnancy/tips-for-better-sleep. [25 August 2022]
- STANFORD MEDICINE CHILDREN'S HEALTH. Sleeping Positions During Pregnancy. [Online] Accessed https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=sleeping-position…. [25 August 2022]
- Tommys. Sleep position in pregnancy Q&A. [Online] Accessed https://www.tommys.org/pregnancy-information/im-pregnant/sleep-side/sle…. [25 August 2022]
- Sitaram Bhartia Institute of Science and Research. Low-Lying Placenta: Sleeping Position, Precautions & More. [Online] Accessed https://www.sitarambhartia.org/blog/maternity/low-lying-placenta-need-k…. [25 August 2022]
Enfa สรุปให้ สายสะดือพันคอ ไม่ใช่สัญญาณความผิดปกติแต่อย่างใด และยังสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ในการ...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ รกคืออวัยวะที่สำคัญมากในการตั้งครรภ์ซึ่งทำหน้าที่รองรับการเจริญเติบโตของทารกตลอด 40...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ รกพันคอเด็ก คือ ภาวะที่สายสะดือพันรอบคอทารกในครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่ทารกเคลื...
อ่านต่อ