นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ท่าทารกในครรภ์ แบบไหนที่ผิดปกติ ท่าแบบไหนเสี่ยงคลอดยาก

Enfa สรุปให้

  • ท่าทารกในครรภ์ ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 35 สัปดาห์ จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อาจจะนอนขวาง เอาหัวขึ้น หรือกลับหัวลงได้อย่างอิสระ เพราะมีพื้นที่ภายในมดลูกมากพอให้เคลื่อนไหว
  • ท่าของทารกในครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ขึ้นไป ควรจะอยู่ในท่าศีรษะลงสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอด และทารกจะไม่เปลี่ยนท่าอีกหลังจากนี้ เพราะพื้นที่ในมดลูกไม่เพียงพอสำหรับการเคลื่อนไหว
  • ท่า hf คือ ท่าที่ทารกกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน เป็นท่าเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ท่านี้ช่วยให้คลอดง่าย ใช้เวลาไม่นาน และไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดรุนแรงในขณะคลอด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงท่าทางอยู่เสมอ เพื่อปรับอิริยาบถให้อยู่ในท่าที่รู้สึกสบาย และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ แม้ว่าพื้นที่ภายในมดลูกจะไม่ได้กว้างขวางมากนักก็ตาม บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ ท่าทารกในครรภ์ ในแต่ละช่วงอายุครรภ์ มาดูกันว่า ทารกในครรภ์มีท่าทางอย่างไร และท่าทารกแบบไหนที่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ

ท่าทารกในครรภ์ แต่ละช่วงอายุครรภ์


ท่าทารกในครรภ์นั้น จะสามารถตรวจพบได้ผ่านการอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะสามารถอัลตราซาวนด์เห็นทารกตัวเต็มวัยที่ไม่ใช่ตัวอ่อนได้ ก็จะต้องตั้งครรภ์อยู่ในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงท่าทาง หรืออยู่ในช่วงที่คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงการดิ้นของทารกนั่นเอง

ซึ่งการเคลื่อนไหวท่าทางของทารกในครรภ์ในช่วงไตรมาส 2-3 นั้น ก็จะมีตั้งแต่การกลับหัว การพลิกตัว การหันหลัง การนอนแนวขวาง เบี่ยงตัวออกซ้ายหรือขวา สลับสับเปลี่ยนกันไปค่ะ เพราะมีพื้นที่ภายในมดลูกให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงไตรมาสสุดท้าย ตั้งแต่อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป ทารกส่วนใหญ่จะเริ่มอยู่ในท่าเดียวกันคือจะค่อย ๆ เริ่มหันศีรษะลงสู่อุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด และจะไม่เปลี่ยนท่าอีกแล้ว เพราะพื้นที่ภายในมดลูกไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนไหวไปมาอีกต่อไป

ซึ่งหากทารกยังไม่อยู่ในท่าเตรียมคลอด แพทย์อาจช่วยกระตุ้นเพื่อให้ทารกกลับมาอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม เพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ง่าย ลดความเสี่ยงต่อการผ่าคลอดค่ะ

คุณพ่อคุณแม่จะทราบท่าของทารกในครรภ์ได้ด้วยวิธีใดบ้าง


โดยทั่วไปแล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถทราบได้ว่าทารกกำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าทางได้ผ่านการดิ้นของลูก เวลาที่คุณแม่สัมผัสได้ว่าลูกดิ้น หรือคุณพ่อเห็นการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องของคุณแม่ นั่นแหละค่ะทารกกำลังเคลื่อนตัวปรับเปลี่ยนอิริยาบถ  

อย่างไรก็ตาม ท่าของทารกในครรภ์ ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เนื่องจากมดลูกและหน้าท้องบดบังการมองเห็นโดยตรง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นท่าทางของทารกได้อย่างชัดเจนผ่าน การอัลตราซาวนด์ ทั้งทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด ซึ่งนอกจากจะเผยให้เห็นท่าของทารกในครรภ์แล้ว ก็ยังช่วยให้แพทย์ประเมินพัฒนาการและสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย 

ท่าทารกในครรภ์ผิดปกติ เกิดจากอะไร


ท่าทารกในครรภ์ผิดปกติ ส่วนใหญ่จะหมายถึงการที่ทารกไม่ยอมกลับหัวลงอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด เช่น ทารกอยู่ในท่าขวาง ลำตัวตั้งฉากกับคุณแม่ หรือ หันก้นลงสู่อุ้งเชิงกราน ท่าเหล่านี้ถือว่าผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดยาก หรืออาจต้องมีการผ่าคลอด 

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมลูกน้อยจึงอยู่ในท่าผิดปกติ ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่อาจทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ เพราะอาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น 

  • คุณแม่มีการคลอดก่อนกำหนด 
  • เป็นการตั้งครรภ์แฝด 
  • ทารกมีความพิการบางอย่าง เช่น ไม่มีกะโหลกศีรษะ หรือ มีเนื้องอกที่ก้น 
  • มีปริมาณน้ำคร่ำมากผิดปกติ 
  • มีเนื้องอกในมดลูก 
  • รกเกาะผิดตำแหน่ง 
  • กล้ามเนื้อมดลูกขาดความตึงตัว เนื่องจากคุณแม่คลอดลูกมาหลายครั้ง 

ท่าของทารกในครรภ์ กับความยากง่ายในการคลอด


ท่าของทารกในครรภ์ สามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มความยากง่ายในการคลอดได้ ดังนี้

 

ท่า HF หรือท่าศีรษะลง (Head First) ใช้ Occiput เป็นจุดนำ 

หากทารกอยู่ในท่าที่เอาศีรษะลงอุ้งเชิงกราน ถือว่าเป็นท่าเตรียมคลอดที่ปกติ สามารถคลอดง่าย แต่ก็ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของศีรษะทารกที่หันลง เพราะในบางกรณีอาจทำให้การคลอดยากขึ้น และอาจจำเป็นต้องผ่าคลอด 

  • ท่า LOA (ท่าศีรษะด้านหน้าซ้าย หรือ Left Occiput Anterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ทางด้านซ้ายของอุ้งเชิงกราน ท่านี้เป็นหนึ่งในท่าที่ทำให้สามารถคลอดได้ง่าย 
  • ท่า ROA (ท่าศีรษะด้านหน้าขวา หรือ Right Occiput Anterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ทางด้านขวาของอุ้งเชิงกราน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการคลอดธรรมชาติได้ง่าย 
  • ท่า LOP (ท่าศีรษะด้านหลังซ้าย หรือ Left Occiput Posterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ท้างด้านหลังข้างซ้ายของอุ้งเชิงกราน ซึ่งทารกกำลังอยู่ในท่านอนขดตัวอยู่ ท่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลังมาก และคลอดได้ยาก อาจต้องผ่าคลอด 
  • ท่า ROP (ท่าศีรษะด้านหลังขวา หรือ Right Occiput Posterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ท้างด้านหลังข้างขวาของอุ้งเชิงกราน ซึ่งทารกกำลังอยู่ในท่านอนขดตัวอยู่เช่นกัน เป็นอีกท่าที่ส่งผลให้คุณแม่ปวดหลังก่อนคลอด และคลอดธรรมชาติได้ยาก อาจต้องผ่าคลอด 
  • ท่า OT (ท่าศีรษะด้านข้าง หรือ Occiput Transverse) ศีรษะของทารกจะอยู่ในแนวขวาง หันท้ายทอยออกทางข้าง เป็นท่าในลักษณะที่ขนานกับช่องเชิงกราน ท่านี้จะทำให้คุณแม่คลอดธรรมชาติได้ยากลำบากมาก และมีอาการปวดขณะเบ่งคลอด ต้องใช้ระยะเวลานานในการทำคลอด และบางครั้งก็ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้สำเร็จ ต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีผ่าคลอดแทน 

ท่าก้น (Breech Presentation) ใช้ Sacrum เป็นจุดนำ 

ท่าในกลุ่มของ Breech Presentation ซึ่งเป็นท่าที่หันก้นหรืออวัยอวะอุ้งเชิงกรานลงสู่อุ้งเชิงกรานนี้ มีความเสี่ยงทำให้คลอดยากทั้งหมด และอาจต้องมีการผ่าคลอดเพื่อลดความเจ็บปวด และย่นระยะเวลาในการคลอดให้น้อยลง 

  • ท่า LSA (ท่าก้นด้านหน้าซ้าย หรือ Left Sacrum Anterior) ทารกจะหันก้นลงอุ้งเชิงกราน และหันหน้าไปทางด้านซ้ายทวนเข็มนาฬิกา 
  • ท่า RSA (ท่าก้นด้านหน้าขวา หรือ Right Sacrum Anterior) ทารกจะหันก้นลงอุ้งเชิงกราน และหันหน้าไปทางด้านขวาตามเข็มนาฬิกา 
  • ท่า LSP (ท่าก้นด้านหลังซ้าย หรือ Left Sacrum Posterior) ทารกจะหันก้นลงอุ้งเชิงกราน และหลังของทารกจะหันไปทางด้านซ้าย  
  • ท่า RSP (ท่าก้นด้านหลังขวา หรือ Right Sacrum Posterior) ทารกจะหันก้นลงอุ้งเชิงกราน  และหลังของทารกจะหันไปทางด้านขวา 

ท่าหัวไหล่ลง หรือขวาง (Transverse Lie) ใช้ Acromion เป็นจุดนำ 

ท่าทารกในครรภ์ในลักษณะที่ทารกเอาหัวไหล่ลงอุ้งเชิงกราน ถือเป็นอีกหนึ่งท่าที่อันตรายต่อการคลอด ทำให้คลอดยาก คลอดลำบาก และอาจต้องใช้ตัวช่วยในการคลอด หรือทำการผ่าคลอด 

  • ท่า LA (ท่าหัวไหล่ซ้ายลง หรือ Left Acromion) ทารกหันหัวไหล่ข้างซ้ายลงช่องเชิงกราน 
  • ท่า RA (ท่าหัวไหล่ขวาลง หรือ Right Acromion) ทารกหันหัวไหล่ข้างขวาลงช่องเชิงกราน 
  • ท่า LAT (ท่าหัวไหล่ตะแคงซ้าย หรือ Left Acromion Transverse) ทารกนอนขวางและตะแคงหัวไหล่ข้างซ้ายลงช่องเชิงกราน 
  • ท่า RAT (ท่าหัวไหล่ตะแคงขวา หรือ Right Acromion Transverse) ทารกนอนขวางและตะแคงหัวไหล่ข้างขวาลงช่องเชิงกราน 

ท่าหน้าหรือหน้าผากลง (Face and Brow Presentation) ใช้ Brow หรือ Face เป็นจุดนำ 

ปกติทารกจะต้องหันศีรษะลงอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่บางครั้งทารกอาจกลับหัวลงอุ้งเชิงกรานจริง แต่เงยหน้าผากลงสู่อุ้งเชิงกรานแทนที่จะเอาศีรษะลงเพียงอย่างเดียว ถือเป็นอีกหนึ่งท่าของทารกในครรภ์ที่ผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอด ทำให้คลอดยาก หรือต้องทำการผ่าคลอด 

  • ท่า LMA (ท่าหน้าด้านหน้าซ้าย หรือ Left Mentum Anterior) ทารกกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน แต่เงยหน้าหันคางไปทางด้านซ้าย 
  • ท่า RMA (ท่าหน้าด้านหน้าขวา หรือ Right Mentum Anterior) ทารกกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน แต่เงยหน้าหันคางไปทางด้านขวา 
  • ท่า LMP (ท่าหน้าด้านหลังซ้าย หรือ Left Mentum Posterior) ทารกกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน แต่เงยหน้าหันคางไปทางด้านหลังบริเวณซ้าย 
  • ท่า RMP (ท่าหน้าด้านหลังขวา หรือ Right Mentum Posterior) ทารกกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน แต่เงยหน้าหันคางไปทางด้านหลังบริเวณขวา 
  • ท่า LFrA (ท่าหน้าผากด้านหน้าซ้าย หรือ Left Brown Anterior) ทารกกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน แต่เงยหน้าผากหันไปทางด้านซ้าย 
  • ท่า RFrA (ท่าหน้าผากด้านหน้าขวา หรือ Right Brown Anterior) ทารกกลับหัวลงอุ้งเชิงกราน แต่เงยหน้าผากหันไปทางด้านขวา 

ท่าข้อศอกลงหรือแขนลง (Shoulder or Arm Presentation) ใช้ Elbow เป็นจุดนำ 

หากทารกอยู่ในท่าที่หันข้อศอก แขน หรือหัวไหล่ลงอุ้งเชิงกราน ลักษณะแบบนี้ถือเป็นภาวะผิดปกติขั้นรุนแรง และจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องทำการผ่าคลอดโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และทารก อย่างไรก็ตาม ท่าทางลักษณะนี้พบได้ไม่บ่อยนักค่ะ 

  • ท่า LEA (ท่าข้อศอกด้านหน้าซ้าย หรือ Left Elbow Anterior) ทารกนอนขดตัวในลักษณะขวาง หันหน้าออกทางเดียวกับแม่ และหันข้อศอกซ้ายลงช่องเชิงกราน 
  • ท่า REA (ท่าข้อศอกด้านหน้าขวา หรือ Right Elbow Anterior) ทารกนอนขดตัวในลักษณะขวาง หันหน้าออกทางเดียวกับแม่ และหันข้อศอกขวาลงช่องเชิงกราน 
  • ท่า LSP (ท่าหัวไหล่ด้านหลังซ้าย หรือ Left Shoulder Posterior) ทารกนอนขดตัวในลักษณะขวาง หันหน้าเข้าหาแม่ และหันหัวไหล่ซ้ายลงช่องเชิงกราน 
  • ท่า RSP (ท่าหัวไหล่ด้านหลังขวา หรือ Right Shoulder Posterior) ทารกนอนขดตัวในลักษณะขวาง หันหน้าเข้าหาแม่ และหันหัวไหล่ขวาลงช่องเชิงกราน 

ท่าทารกในครรภ์ที่คุณหมอมักแนะนำให้ผ่าคลอด


โดยทั่วไปนั้น หากถึงกำหนดคลอดแล้ว แต่ทารกยังไม่ยอมกลับหัวลง แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเด็กไม่ยอมกลับหัวและอยู่ในท่าที่ผิดปกติ ได้แก่  

ท่าที่ผิดปกติ คลอดธรรมชาติยาก อาจต้องมีการผ่าคลอด 

  • ท่า LOP ( Left occiput posterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ทางด้านหลังข้างซ้ายของอุ้งเชิงกราน 
  • ท่า ROP ( Right occiput posterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ทางด้านหลังข้างขวาของอุ้งเชิงกราน 
  • ท่า LOT ( Left occiput transverse) ทารกเอาหัวลง แต่จะหันศีรษะในแนวขวาง หันท้ายทอยออกข้างซ้าย 
  • ท่า ROT ( Right occiput transverse) ทารกเอาหัวลง แต่จะหันศีรษะในแนวขวาง หันท้ายทอยออกข้างขวา 
  • ท่า OT (Occiput Transverse) ศีรษะทารกจะอยู่ในแนวขวาง และหันท้ายทอยออกด้านข้าง 

ท่าที่ผิดปกติ ต้องผ่าคลอดเท่านั้น 

  • ทารกไม่ยอมกลับหัวแต่เอาก้นลงแทน (Breech Presentation)  
  • ทารกเอาหัวลง แต่เงยหน้าหรือเงยคางออก (Face and Brow Presentation) 
  • ทารกเอาหัวไหล่ลง หรือนอนขวาง (Transverse Lie) 
  • ทารกอยู่ในท่าที่หันข้อศอกลงหรือแขนลง (Shoulder or Arm Presentation) 

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่


ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรใส่ใจกับเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ เพื่อบำรุงสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง และเพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความพิการและความผิดปกติต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์อีกด้วย 

เพื่อสุขภาพการตั้งครรภ์ที่ดีคุณแม่ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ควรมีทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ ในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง 

นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถเสริมโภชนาการได้ด้วยนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ดีเอชเอ โฟเลต โคลีน และแคลเซียม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ ช่วยป้องกันภาวะความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกน้อย ให้เติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 

ไขข้อข้องใจเรื่องท่าทารกในครรภ์กับ Enfa Smart Club


  ท่า HF คืออะไร? 

ท่า Head First (ท่า HF) หรือ ทารกท่าหัว คือ ลักษณะที่ทารกกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ท่านี้จะทำให้คลอดธรรมชาติได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน และคุณแม่เจ็บปวดน้อย แต่ก็อาจมีบางกรณีที่ท้ายทอยของทารกอยู่ในลักษณะขวาง อาจทำให้การคลอดธรรมชาติลำบาก หรือต้องทำการผ่าคลอดแทน 

 

  ท่าทารกในครรภ์ RSA  เป็นอย่างไร? 

ท่า RSA (Right Sacrum Anterior) คือลักษณะที่ทารกหันก้นลงอุ้งเชิงกราน และหันหน้ากับลำตัวไปทางด้านขวาตามเข็มนาฬิกา ท่านี้จัดเป็นหนึ่งในท่าผิดปกติและต้องทำการผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์ 

 

  ท่า LSA ทารก คืออะไร? 

ท่า LSA (Left Sacrum Anterior) คือท่าที่ทารกจะหันก้นลงอุ้งเชิงกราน และหันหน้ากับลำตัวไปทางด้านซ้ายทวนเข็มนาฬิกา นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในท่าผิดปกติ ที่จะต้องทำการการผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์ 

 

  ท้อง 32 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าขวางทำไงดี? 

ท้อง 32 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าขวาง อาจเป็นการพลิกตัวตามปกติของทารกในครรภ์ ที่มักจะชอบเปลี่ยนท่าไปมา วันนี้อาจจะนอนขวาง แต่เดี๋ยวก็เปลี่ยนกลับมานอนในแนวขนานตามปกติ  

แต่ถ้าคุณแม่กลับมาตรวจครรภ์อีกครั้งในอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 35-36 ขึ้นไป และพบว่าลูกยังนอนขวางอยู่ ซึ่งด้วยอายุครรภ์ใกล้คลอดแบบนี้ ทารกจะไม่เปลี่ยนท่าแล้ว เพราะพื้นที่ในมดลูกเหลือน้อยทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนท่าได้อย่างอิสระ แพทย์อาจวินิจฉัยทำการผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์ค่ะ 

 

  ทารกอยู่ท่าไหนคลอดง่ายสุด? 

หากทารกอยู่ในท่าที่กลับหัวเอาศีรษะลงสู่อุ้งเชิงกราน ในลักษณะดังต่อไปนี้ ถือเป็นท่าคลอดลูกที่ง่ายที่สุด ลดโอกาสเสี่ยงต่อการผ่าคลอด 

  • ท่า LOA (Left Occiput Anterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ทางด้านซ้ายของอุ้งเชิงกราน  
  • ท่า ROA (Right Occiput Anterior) ท้ายทอยของทารกจะอยู่ทางด้านขวาของอุ้งเชิงกราน

    * นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
    Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
    เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
    Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

    คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

    กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

    Line TH
    Shopee TH Lazada TH Join Enfamama