นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ใบอัลตราซาวนด์ อ่านยังไง ตัวย่อแต่ละอันหมายถึงอะไรบ้าง

Enfa สรุปให้

  • ใบอัลตราซาวนด์ จะมีข้อมูลรายละเอียดเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวกับทารกในครรภ์ ตั้งแต่อายุครรภ์ของทารก ความยาวของทารก น้ำหนักของทารก ไปจนถึงข้อมูลที่อาจบอกถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ของทารกอีกด้วย
  • ใบอัลตราซาวนด์เพศหญิง สามารถสังเกตเห็นตุ่มเนื้อที่อวัยวะเพศจะเป็นมุมเอียงลง ซึ่งตุ่มเนื้อนี้จะไม่ยาวขึ้นเหมือนกับองคชาติของเพศชาย แต่จะพัฒนาไปเป็นคลิตอริสแทน
  • ใบอัลตราซาวนด์ดูเพศยังไง? ต้องดูภาพบริเวณอวัยวะเพศหรือหว่างขาของทารก ว่ามีตุ่มอวัยวะเพศชี้ขึ้นหรือชี้ลง หรือควรสอบถามกับแพทย์เพื่อให้ได้ข้อมูลเพศลูกที่แม่นยำและถูกต้อง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

หลังการอัลตราซาวนด์ คุณแม่จะได้รับใบอัลตราซาวนด์ที่มีรายละเอียด ตัวย่อ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ บทความนี้จาก Enfa จึงขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอ่านตัวย่อต่าง ๆ ของใบอัลตราซาวนด์ เพื่อเป็นแนวทางช่วยให้คุณแม่เข้าใจรายละเอียดในใบอัลตราซาวนด์ของลูกได้มากยิ่งขึ้น

ใบอัลตราซาวนด์ คืออะไร


ใบอัลตราซาวนด์ คือ ใบบอกรายละเอียดผลการตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะระบุข้อมูลที่เกี่ยวกับอายุครรภ์ ขนาดของทารกในครรภ์ น้ำหนักทารกในครรภ์ ความยาวของทารกในครรภ์ เส้นรอบวงศีรษะของทารก ปริมาณน้ำคร่ำ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์และคุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามสุขภาพและการเจริญเติบโตของทารกได้อย่างใกล้ชิด

ผลอัลตราซาวนด์เชื่อถือได้แค่ไหน


การอัลตราซาวนด์ ไม่เพียงช่วยติดตามการเจริญเติบโตของทารกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ทราบโอกาสและความเสี่ยง หรือความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นไปแล้วในขณะตั้งครรภ์ เช่น ความพิการและภาวะความผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ แพทย์ก็สามารถที่จะรับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ได้

และถึงแม้ว่าผลอัลตราซาวนด์จะมีความเชื่อถือได้สูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลอัลตราซาวนด์จะแม่นยำ 100% เสมอไป อาจมีความคาดเคลื่อนได้บ้าง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละกรณี

อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ยังคงเป็นวิธีทางการแพทย์ที่มีความแม่นยำสูงและสามารถใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามพัฒนาการและความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ใบอัลตราซาวนด์ดูเพศยังไง


การอัลตราซาวนด์เพื่อดูเพศลูกนั้น จะสามารถมองเห็นเพศลูกได้อย่างชัดเจนเมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือสามารถเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่ง้โดยทั่วไปนั้นแพทย์ก็จะแจ้งกับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่ในห้องอัลตราซาวนด์แล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถจำแนกรายละเอียดของเพศทารกในใบอัลตราซาวนด์ได้ผ่านรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้ 

 

ใบอัลตราซาวนด์เพศหญิง

ภาพจากใบอัลตราซาวนด์ จะมีลักษณะทางกายภาพที่บ่งบอกว่าเป็นเพศหญิง ดังนี้

  • ตุ่มเนื้อที่อวัยวะเพศจะเป็นมุมเอียงลง หากตุ่มเนื้อบริเวณนี้ชี้ลง แสดงว่าทารกเป็นเด็กผู้หญิง ซึ่งตุ่มเนื้อนี้จะไม่ยาวขึ้นเหมือนกับองคชาติของเพศชาย แต่จะพัฒนาไปเป็นคลิตอริสแทน
  • หากมองเห็นเส้นสีอ่อนสามเส้นเรียงซ้อนกันในบริเวณอวัยวะเพศแทนที่จะเป็นรูปโดม แสดงว่าทารกเป็นเด็กผู้หญิง เส้นเหล่านี้คือแคมใหญ่ คลิตอริส และแคมเล็ก


ใบอัลตราซาวนด์เพศชาย

ภาพจากใบอัลตราซาวนด์ จะมีลักษณะทางกายภาพที่บ่งบอกว่าเป็นเพศชาย ดังนี้

  • คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นตุ่มเนื้อที่อวัยวะเพศที่เอียงขึ้นหรือชี้ขึ้นด้านบน ซึ่งในที่สุดจะเติบโตเป็นองคชาต
  • เมื่อมองไปที่ก้นของทารก จะสังเกตเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับรูปโดม บริเวณระหว่างขาของทารก ซึ่งก็คือองคชาตและถุงอัณฑะ

 

วิธีอ่านฟิล์มอัลตราซาวนด์


การอ่านผลอัลตราซาวนด์ตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน หากไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ อาจทำให้เกิดความสับสนและไม่เข้าใจความหมายของสัญลักษณ์หรือตัวย่อต่าง ๆ ได้

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดและข้อมูลจากผลอัลตราซาวนด์ได้อย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามแพทย์ให้ชัดเจนในวันที่รับผล หรือหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อขอคำอธิบายเกี่ยวกับข้อมูลที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มอัลตราซาวนด์

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวย่อต่าง ๆ ที่ใช้ในผลอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าแผ่นอัลตราซาวนด์นี้บอกอะไรเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในครรภ์บ้าง

ตัวย่อในใบอัลตราซาวนด์ มีความหมายอย่างไร และใช้เพื่ออะไร


การทราบตัวย่อต่าง ๆ ที่ปรากฎในใบอัลตราซาวนด์ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทราบรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับทารกได้มากขึ้นค่ะ เพราะตัวย่อและสัญญลักษณ์ต่าง ๆ นั้นล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลของทารกในครรภ์ทั้งหมด ดังนี้

 

ค่าที่ใช้วัดขนาดทารก

การวัดขนาดทารก ทั้งความยาวจากบนลงล่าง ความกว้างของศีรษะ จะใช้เพื่อประเมินอายุครรภ์ของแม่และทารกในครรภ์ และยังใช้ประกอบการติดตามพัฒนาการของทารกด้วยว่าตรงกับอายุครรภ์หรือไม่ โดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น ดังนี้

  • GA (Gestational Age) คือ อายุครรภ์
  • CRL (Crown-Rump Length) คือ ความยาวจากศีรษะถึงก้น
  • BPD (Biparietal Diameter) คือ เส้นผ่านศูนย์กลางศีรษะ
  • HC (Head Circumference) คือ เส้นรอบวงศีรษะ
  • AC (Abdominal Circumference) คือ เส้นรอบวงท้อง
  • FL (Femur Length) คือ ความยาวกระดูกต้นขา
  • HL (Humerus Length) คือ ความยาวกระดูกต้นแขน


ค่าที่ใช้ประเมินสุขภาพและสภาพแวดล้อมของทารก

ค่าต่าง ๆ ต่อไปนี้ใช้ในการประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และช่วยประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมภายในมดลูก ได้แก่

  • AFI (Amniotic Fluid Index) คือ ดัชนีน้ำคร่ำ
  • AFV (Amniotic Fluid Volume) คือ ปริมาณน้ำคร่ำ
  • FHR (Fetal Heart Rate) คือ อัตราการเต้นของหัวใจทารก
  • EFW (Estimated Fetal Weight) คือ น้ำหนักทารกโดยประมาณ
  • FL/AC Ratio คือ อัตราส่วนความยาวกระดูกต้นขาต่อรอบท้อง


ค่าที่ใช้ประเมินรกและสายสะดือ

ข้อมูลของรกและสายสะดือเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของทารกในครรภ์ เพราะหากมีความผิดปกติของรก จะส่งผลกระทบต่อทารกและอาจเป็นอันตรายได้

  • PL (Placenta Location) คือ ตำแหน่งของรก
  • Gr (Placenta Grading) คือ ระดับความสมบูรณ์ของรก
  • UA (Umbilical Artery Doppler) คือ การไหลเวียนเลือดในสายสะดือ


ค่าที่ใช้ประเมินท่าของทารกในครรภ์ เช่น

การอัลตราซาวนด์ช่วยประเมินท่าของทารกในครรภ์ได้ว่าขณะนี้ท่ารกกำลังอยู่ในอริยาบถใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสามที่มีคุณแม่อายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ขึ้นไป ท่าของทารกในครรภ์จะช่วยบอกความเสี่ยงต่อการคลอด และช่วยให้แพทย์วินิจฉัยวิธีคลอดที่ปลอดภัยต่อแม่และเด็กได้

  • LOA (Left Occiput Anterior) คือ ท่าที่ทารกจะหันท้ายทอยไปทางด้านซ้ายของอุ้งเชิงกราน ท่านี้เป็นสัญญาณของการคลอดง่าย
  • ROA (Right Occiput Anterior) คือ ท่าที่ทารกจะหันท้ายทอยไปทางด้านขวาของอุ้งเชิงกราน ท่านี้จะทำให้คุณแม่คลอดง่าย
  • LOP (Left Occiput Posterior) คือ ท่าที่ท้ายทอยของทารกจะอยู่ท้างด้านหลังข้างซ้ายของอุ้งเชิงกราน และทารกกำลังอยู่ในท่านอนขดตัวอยู่ ท่านี้จะทำให้คุณแม่คลอดได้ยาก อาจต้องผ่าคลอด
  • ROP (Right Occiput Posterior) คือ ท่าที่ท้ายทอยของทารกจะอยู่ท้างด้านหลังข้างขวาของอุ้งเชิงกราน และทารกกำลังอยู่ในท่านอนขดตัวอยู่ ท่านี้จะทำให้คุณแม่คลอดได้ยาก อาจต้องผ่าคลอด
  • Breech เป็นท่าที่ทารกหันก้นหรืออวัยวะอุ้งเชิงกรานลงสู่อุ้งเชิงกราน เป็นท่าที่มีความเสี่ยงทำให้คลอดยาก และอาจต้องมีการผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์
  • Transverse Lie คือ ท่าที่ทารกเอาหัวไหล่ลงอุ้งเชิงกราน เป็นท่าที่อันตรายต่อการคลอด ต้องทำการคลอดด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์


คำที่ใช้ประเมินอวัยวะของทารก

การอัลตราซาวนด์ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ โดยอาศัยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอวัยวะของทารก เพื่อใช้ประเมินหาภาวะความผิดปกติและความพิการของทารก 

  • NT (Nuchal Translucency) คือ ค่าความหนาบริเวณหลังต้นคอทารก ซึ่งใช้สำหรับการประเมินตรวจหากลุ่มอาการดาวน์
  • CSP (Cavum Septum Pellucidum) คือ โครงสร้างสมองทารก หรือช่องว่างในโพรงสมอง เพื่อตรวจวัดหาความผิดปกติในสมองของทารก
  • LV (Lateral Ventricles) คือ ขนาดโพรงสมองข้าง เพื่อตรวจวัดหาความผิดปกติในสมองของทารก
  • ST (Stomach) กระเพาะอาหารของทารก เพื่อประเมินการทำงานของระบบทางเดินอาหารของทารก

ดูใบอัลตราซาวนด์ และปรึกษาสูตินรีแพทย์โดยตรงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง


อ่านใบอัลตราซาวนด์ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกสับสนกับข้อมูลที่ซับซ้อนหากไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจและติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์หรือสูตินรีแพทย์โดยตรง เพื่อให้เข้าใจข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับทารกในครรภ์อย่างชัดเจนและถูกต้อง 

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่


คุณแม่สามารถติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ผ่านการอัลตราซาวนด์ ซึ่งช่วยเผยให้เห็นถึงการเจริญเติบโต การเคลื่อนไหว และความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน 

อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการที่สมวัย คือการใส่ใจกับอาหารการกิน เพื่อให้ทั้งแม่และทารกได้รับโภชนาการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต 

ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย อุดมไปด้วยผัก เนื้อสัตว์ ผลไม้ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งเป็นแหล่งของสารอาหารที่จำเป็นในช่วงการตั้งครรภ์ 

นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถเสริมโภชนาการได้ด้วยนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ดีเอชเอ โฟเลต โคลีน และแคลเซียม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ ช่วยป้องกันภาวะความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกน้อย ให้เติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์

    * นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
    Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
    เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
    Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

    คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

    กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

    Line TH
    Shopee TH Lazada TH Join Enfamama