Enfa สรุปให้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
เป็นที่รู้กันดีว่าอาการปวดท้องนั้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุมาก และในการปวดท้องแต่ละครั้งก็มักจะทำให้รู้สึกกังวลกันอยู่ไม่ใช่น้อย วันนี้ Enfa มีอีกหนึ่งอาการปวดท้องที่เชื่อว่าคุณผู้หญิงและคุณแม่หลาย ๆ คนน่าจะเคยประสบกันมาบ้าง
อย่างการปวดท้องข้างซ้าย หรือปวดท้องน้อยด้านซ้ายล่าง จี๊ด ๆ มาดูกันว่าอาการปวดท้องในลักษณะนี้เกิดจากอะไร และเป็นอันตรายที่น่าวิตกกังวลหรือไม่
อาการปวดท้องข้างซ้ายนั้น บอกถึงปัญหาสุขภาพได้หลายด้าน ดังนี้
ปกติแล้วอาการปวดท้องข้างซ้ายแบบจี๊ด ๆ นั้นมีสาเหตุที่ไม่ต่างกันมากนักในผู้หญิงและผู้ชาย เพราะอาจหมายถึงว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับม้าม ไต ท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ แต่...สำหรับผู้หญิงอาจจะมีปัญหารวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับมดลูกและปีกมดลูกที่ด้านซ้ายด้วย
ปกติแล้วอาการปวดท้องข้างซ้ายแบบจี๊ด ๆ นั้นมีสาเหตุที่ไม่ต่างกันมากนักในผู้ชายและผู้หญิง หากอาการปวดท้องแบบนี้เกิดกับผู้ชาย นั่นอาจหมายถึงว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับม้าม ไต ท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ รวมถึงต่อมลูกหมาก
อาการปวดท้องซ้ายนั้น สามารถบ่งบอกถึงอาการทางสุขภาพหลากหลายรูปแบบ ทั้งสาเหตุที่ไม่น่ากังวลมากนัก กับสาเหตุที่ค่อนข้างเป็นอันตราย ดังนี้
1. ปวดประจำเดือน
อาการปวดท้องน้อยข้างซ้าย หรือปวดคล้ายเป็นตะคริวที่ข้างซ้ายมักเกิดขึ้นในช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอาการที่อันตรายแต่อย่างใด โดยมากมักทำให้รู้สึกรำคาญเล็กน้อย หรืออาจทำให้ทำกิจวัตรประจำวันไม่ค่อยสะดวก เว้นเสียแต่ว่าอาการปวดไม่ทุเลาลงเลยแม้ว่าประจำเดือนจะหายไปแล้วก็ตาม กรณีเช่นนี้ควรไปพบแพทย์
2. เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis)
เกิดจากการที่มีเซลล์หนึ่งที่คล้ายกับเนื้อเยื่อในเยื่อบุโพรงมดลูก ไปเจริญเติบโตอยู่นอกมดลูกแทนที่จะเป็นในมดลูก ลักษณะเช่นนี้มักจะก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยที่ข้างซ้าย โดยอาการปวดจะปวดมากในช่วงที่มีประจำเดือน ปวดเวลาที่มีเซ็กซ์ ปวดในช่วงที่ปัสสาวะ ปวดเวลาที่มีตกขาว ซึ่งสาเหตุของอาการในลักษณะนี้ไม่ค่อยจะแน่ชัด ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
3. ภาวะถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst)
คือภาวะที่มีซีสต์หรือถุงน้ำใบเล็ก ๆ เกิดขึ้นภายในรังไข่ ซึ่งโดยมากแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายหากมีการผ่าตัดรักษา แต่ถ้าถุงน้ำนั้นมีการเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้รู้สึกปวดที่ท้องน้อยได้ และถ้าถุงน้ำนั้นเกิดแตกออก ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง และมีเลือดออกภายในรังไข่
4. การบิดขั้วของปีกมดลูก (Adnexal Torsion)
การที่มีเนื้องอกหรือถุงน้ำขนาดใหญ่ อาจทำให้มดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดการบิดตัวต่ออวัยวะร่วมกัน เช่น ปีกมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ โดยการบิดขั้วปากมดลูกนี้สามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงได้ ซึ่งอาการบิดขั้วของปีกมดลูกนี้ไม่ใช่อาการปกติ จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันที หากว่ามีอาการปวดท้องอย่างกะทันหันและมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
5. การตั้งครรภ์นอกมดลูก
การตั้งท้องนอกมดลูก ถือเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เกิดจากการที่ตัวอ่อนไปฝังตัวที่ท่อนำไข่แทนที่จะไปฝังตัวในมดลูก กรณีเช่นนี้เมื่อตัวอ่อนเติบโตขึ้น จะทำให้ท่อนำไข่แตก และอันตรายต่อชีวิตของแม่ ซึ่งอาการปวดท้องน้อยข้างซ้ายในขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณอันตรายของการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ หากมีอาการปวดท้องใด ๆ เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
6. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID)
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียมและโรคหนองใน และการติดเชื้ออื่น ๆ ซึ่งอาการอักเสบในบริเวณอุ้งเชิงกรานนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยที่ด้านซ้ายด้วย
7. ไส้เลื่อนตรงขาหนีบ (Inguinal hernia)
เกิดจากการหย่อนยานตรงช่องท้องส่วนล่าง ทำให้ไขมันหรือของลำไส้เล็กมีการดันตัวออกมาที่บริเวณหัวหน่าว ไส้เลื่อนประเภทนี้เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบได้มากกว่าในผู้ชาย โดยจะทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณอัณฑะหรือหัวหน่าว บางครั้งก็ลามมาถึงบริเวณท้องน้อยด้านซ้าย
8. อัณฑะบิดตัว (testicular torsion)
การบิดตัวของอัณฑะส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอัณฑะได้ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่อัณฑะอย่างรุนแรง โดยมากแล้วมักจะเกิดขึ้นที่อัณฑะซ้าย ทำให้มีอาการปวดลามมาถึงท้องน้อยด้านซ้ายด้วย
9. โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
เกิดจากลำไส้มีสภาวะอ่อนแอ จนเกิดเป็นถุงเล็ก ๆ ขึ้นที่ผนังลำไส้ เมื่อถุงเหล่านี้เกิดการอักเสบ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดขึ้นมา โดยเฉพาะถ้ากดที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายจะรู้สึกปวด ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นเลย อาจจำเป็นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด
10. โรคเซลิแอค (Celiac Disease)
เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการตอบสนองต่อกลูเตนผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยกลูเตนได้ ส่งผลให้เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน และมีอาการปวดท้องที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายร่วมด้วย
11. อาการท้องอืด
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย บางครั้งก็เกิดจากอาการท้องอืด ที่มีสาเหตุมาจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ ส่งผลให้รู้สึกอึดอัดท้อง และบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องได้ด้วย แต่โดยมากแล้วอาการมักจะดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องกินยา หรือบางกรณีการกินยาช่วยย่อยอาหาร หรือยาลดกรด-แก๊สในกระเพาะอาหารก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้
12. อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance)
ผู้ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส มักจะไม่สามารถย่อยอาหารจำพวกนม และผลิตภัณฑ์จากนมได้ ทำให้มีอาการปวดท้อง โดยอาจจะปวดท้องน้อยที่ด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ รวมถึงมีอาการท้องเสีย ท้องร้อง คลื่นไส้ร่วมด้วย
13. นิ่วไนไต
นิ่วในไต เกิดจากการสะสมแคลเซียมจนกระทั่งแข็งตัวเป็นก้อนและสะสมอยู่ที่บริเวณไตด้านขวา หรือด้านซ้าย ซึ่งหากมีก้อนนิ่วมากที่ไตข้างใด ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องด้านนั้นได้ และจะปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการนิ่วในไตจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หากปล่อยไว้จนก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จะยิ่งเป็นอันตราย
14. ลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction)
หากลำไส้เกิดการอุดตัน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถลำเลียงและย่อยอาหารได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงขึ้นได้ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที เพื่อให้การลำเลียงอาหารและของเหลวในร่างกายกลับมาทำงานได้ตามปกติ
15. โรคลำไส้แปรปรวน (IBS : Irritable Bowel Syndrome)
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย อาจเป็นผลมาจากการที่ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะในส่วนของลำไส้ หรือที่เรียกว่าลำไส้แปรปรวน ซึ่งลำไส้อาจจะมีการเคลื่อนตัวผิดปกติ หรือตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ โดยอาการลำไส้แปรปรวนนั้นไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าเกิดจากอะไร จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์
ปวดหน่วงท้องน้อยด้านซ้าย มีทั้งกรณีที่อันตรายและไม่อันตราย อย่างกรณีที่ไม่ได้น่ากลัว เช่น ท้องอืด ปวดท้องประจำเดือน ส่วนกรณีที่อาจจะน่าเป็นห่วงก็เช่น นิ่วในไต ลำไส้อุดตัน โรคเซลิแอค หรืออัณฑะบิดตัว
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายไม่ดีขึ้นเลยในช่วง 2-3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นไปได้ว่าอาการปวดท้องน้อยข้างซ้ายที่เป็นอยู่นั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากอาการทางสุขภาพที่อันตราย
อาการปวดท้องข้างซ้ายล่าง ผู้หญิงหลาย ๆ คนอาจจะเคยเป็นบ่อย ๆ ซึ่งอาการปวดท้องเช่นนี้ไม่สามารถตีความได้แค่เพียงปัญหาสุขภาพเดียว เพราะอาการปวดท้องนั้นมักมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่ค่อนข้างแตกต่างกันไป
โดยอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างอาจหมายถึงปัญหาสุขภาพ เช่น
ปวดท้องประจำเดือน
ท้องอืด
ลำไส้แปรปรวน
ลำไส้อุดตัน
โรคเซลิแอค
นิ่วในไต
อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส
โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
อุ้งเชิงกรานอักเสบ
การบิดขั้วของปีกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูก
ภาวะถุงน้ำในรังไข่
เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่
ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายล่าง อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดที่ท้องน้อยด้านล่างซ้ายมาหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายนั้นขึ้นอยู่กับอวัยวะภายในทางด้านซ้าย เช่น ม้าม ไต ท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ในผู้หญิงอาจจะมีสาเหตุมาจากมดลูกหรือปีกมดลูกด้วย ส่วนในผู้ชายอาจจะมาจากอัณฑะหรือต่อมลูกหมากร่วมด้วย
แต่ในกรณีที่มีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายแล้วมีอาการปวดหลังร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่ากล้ามเนื้องอสะโพก (Iliopsoas Muscle) ซึ่งใช้ในการงอสะโพก การนั่งนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้เกร็งและตึง หากตึงมากเข้าจะทำให้มีอาการปวดตั้งแต่ช่องท้อง ลามไปช่วงขา และที่หลังด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายและมีอาการปวดหลังร่วมนั้น ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกหลายสาเหตุที่ไม่สามารถระบุให้แน่ชัดได้ ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องแล้วลามไปหลัง และอาการไม่ดีขึ้น ควรไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์
อาการปวดหรือเจ็บมดลูกข้างซ้าย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่น่ากังวลและไม่น่าวิตกกังวล โดยอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับมดลูกโดยตรง เช่น ปีกมดลูกอักเสบ การบิดขั้วของปีกมดลูก หรือไม่เกี่ยวกับมดลูกเลย
แต่เป็นผลพวงมาจากการมีประจำเดือน อาการท้องอืด หรือการอักเสบที่อุ้งเชิงกราน อย่างไรก็ตาม หากปวดที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้าย หรือรู้สึกได้ว่าเจ็บมดลูกข้างซ้าย และอาการไม่ดีขึ้นเลย ควรไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์
อาการปวดปีกมดลูกด้านซ้ายนั้น ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ หรือไม่ตั้งครรภ์ ก็ไม่สามารถชี้ถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ จนกว่าจะไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เนื่องจากอาการเจ็บปีกมดลูกข้างซ้ายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่น่าเป็นกังวลอย่าง อาการท้องอืด ไปจนถึงสัญญาณความผิดปกติในการตั้งครรภ์อย่างการท้องนอกมดลูก
อย่างไรก็ตาม หากในระหว่างตั้งครรภ์เกิดมีอาการปวดที่บริเวณปีกมดลูกข้างซ้าย หรือท้องน้อยด้านซ้าย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์ทันที เพราะการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์อาจหมายถึงอาการผิดปกติก็ได้เช่นกัน
การรับมือกับอาการปวดท้องน้อยนั้น แรกเริ่มอาจจะกินยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดก่อน รวมถึงการประคบเย็นด้วยน้ำแข็งห่อผ้าสะอาด หรือการประคบด้วยถุงร้อน การพักผ่อนเยอะ ๆ ก็สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือรู้สึกปวดท้องน้อยด้านซ้ายจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดนั้น ๆ ถ้าอาการปวดไม่ได้รุนแรงอะไรมาก การกินยาแก้ปวด หรือยาปฏิชีวนะ ก็สามารถที่จะรู้สึกดีขึ้นได้
แต่อาการปวดท้องน้อยข้างซ้ายบางสาเหตุ เช่น นิ่วในไต ไส้เลื่อน ภาวะถุงน้ำรังไข่ หรือลำไส้อุดตัน กรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายติดต่อกันตั้งแต่ 1-2 วันขึ้นไปและอาการไม่ดีขึ้นเลย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยและทำการรักษาได้ถูกวิธี
จริง ๆ แล้วหากมีอาการปวดท้องที่จู่ ๆ ก็ปวดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรไปพบแพทย์ทันที หรือหากมีอาการปวดท้องขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็สามารถไปพบแพทย์ได้
มากไปกว่านั้น ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงมาก และอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย ปวดจนกระทั่งไม่สามารถจะทำกิจวัตรประจำวันได้ อาการเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย บางครั้งก็เกิดจาออาการท้องอืด เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ ส่งผลให้รู้สึกอึดอัดท้อง และบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องได้ด้วย แต่โดยมากแล้วอาการมักจะดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องกินยา หรือบางกรณีการกินยาช่วยย่อยอาหาร หรือยาลดกรดแก๊สในกระเพาะอาหารก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้
อาการปวดท้องข้างซ้ายล่าง และลามไปยังหลังนั้นสามารถสันนิษฐานได้หลายสาเหตุมาก โดยอาจหมายถึงกล้ามเนื้องอสะโพก (iliopsoas muscle) ซึ่งใช้ในการงอสะโพกมีการอักเสบขึ้น เพราะการนั่งนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้เกร็งและตึง หากตึงมากเข้าจะทำให้มีอาการปวดตั้งแต่ช่องท้อง ลามไปช่วงขา และที่หลังด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายและมีอาการปวดหลังร่วมนั้น ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นหากมีอาการปวดท้องแล้วลามไปหลัง และอาการไม่ดีขึ้น ควรไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์
อาการไส้ติ่งอักเสบนั้นจะมีอาการปวดที่บริเวณท้องด้านขวา เพราะเป็นตำแหน่งของไส้ติ่ง
ดังนั้น อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายล่างที่กดแล้วเจ็บนั้น จึงอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับไส้ติ่งอักเสบ แต่อาจจะเกิดจากลำไส้มีสภาวะอ่อนแอ จนเกิดเป็นถุงเล็ก ๆ ขึ้นที่ผนังลำไส้ เมื่อถุงเหล่านี้เกิดการอักเสบ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดขึ้นมา โดยเฉพาะถ้ากดที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายจะรู้สึกปวด หรืออาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายล่าง กดแล้วเจ็บอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย และมีตกขาวเป็นลักษณะใส ๆ อาจเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากภาวะกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณหลังอักเสบหรือตึงตัว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการนั่งหรือนอนผิดท่า หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนนั้นมากเกินไป
หรืออาจเกิดจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นผลพวงมาจากการปวดที่เกี่ยวกับภาวะทางกระดูก เช่น กระดูกกดทับเส้นประสาท หรืออาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบรวมถึงอาจมีสาเหตุมาจากอาการปวดจากอุ้งเชิงกรานอักเสบ และการติดเชื้อในมดลูก เป็นต้น
แต่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจก็สามารถทำการตรวจครรภ์ดูได้ว่าอาการเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะกำลังตั้งครรภ์หรือไม่
อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายและมีอาการปวดฉี่บ่อยร่วมด้วยนั้นเกิดจากอะไรกันแน่
เพราะอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นิ่วในไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การอักเสบที่ปีกมดลูก การอักเสบที่อุ้งเชิงกราน หรือลำไส้อักเสบ เป็นต้น
ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายและปวดฉี่บ่อย และอาการไม่ดีขึ้นเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป
Enfa สรุปให้ ใบอัลตราซาวนด์ จะมีข้อมูลรายละเอียดเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวกับทารกในครรภ์ ตั้งแต่อายุค...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ท่าทารกในครรภ์ ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 35 สัปดาห์ จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อาจจะนอนขว...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ท้องอ่อน ๆ ฉี่บ่อยแค่ไหน? คนท้องในไตรมาสแรกจะมีอาการปัสสาวะบ่อยเป็นปกติ โดยอาจปัสสา...
อ่านต่อ